วันอาทิตย์ที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2553

เปิดตำนาน ชวนชมยักษ์ซาอุ ยักษ์บ้านวัด (เพชรเมืองคง)



ดอกไม้แห่งตำนาน ยักษ์บ้านวัด

           กระทู้นี้ได้โพสไว้ที่เว็บคนรักโซโคฯ หลังจากที่โพสไปแล้วก็พบความบกพร่องหลายอย่างเช่น โพสภาพผิดสลับกัน ภาพบางภาพมีขนาดใหญ่เกินความจำเป็น โพสความคิดเห็นซ้ำกัน จัดข้อความไม่พอดีกับหนึ่งความคิดเห็นทำให้ตัวอักษรขาดตอนข้ามไปอยู่ความคิดเห็นถัดไป จึงอยากจะโพสแก้ไขใหม่ให้ดูดีเหมาะสมกว่าเก่า....อนึ่ง... เว็บโซโคฯก็เป็นเว็บที่มีสมาชิกเป็นจำนวนมาก และมีการโพสกระทู้กันวันละหลายกระทู้ คาดว่าอีกไม่นานพื้นที่เว็บคงจะเต็มและเจ้าบ้านคงจะทยอยลบกระทู้เก่าๆออกไปอย่างที่เคยทำมาคือลบกระทู้เก่าออกเพื่อให้สมาชิกได้มีพื้นที่โพสกระทู้ใหม่ กระทู้นี้คงจะพอมีประโยชน์ไว้ใช้สำหรับอ้างอิงและศึกษาเกี่ยวกับชวนชมสายพันธุ์ยักษ์บ้านวัดสำหรับผู้เริ่มต้นศึกษาใหม่อยู่บ้าง เกรงว่าเจ้าบ้านจะลบกระทู้นี้ทิ้งไป จึงขอรบกวนพื้นที่เว็บของโยมฝากกระทู้นี้ไว้ หวังว่าอาจจะอยู่ได้นานสักหน่อย....

   ในการไปเยี่ยมสวนโยมหยูคราวนั้น ได้เห็นราชินีพันดอกกิ่งตอนจากกิ่งต้นแม่ของท่านนายพลสองต้น ซึ่งมีขนาดใหญ่และสวยงามมาก ลองถามโยมว่าจะหากิ่งตอนราชินีพันดอกใหญ่ๆอย่างนี้ได้จากที่ไหน โยมก็บอกว่ารู้จักและสนิทสนมกับคนๆหนึ่งที่จ.ขอนแก่น สะสมราชินีพันดอกมานานนับสิบปี มีกิ่งชำจากต้นแม่และกิ่งตอนจากกิ่งต้นแม่มากมาย ใจบุญสุนทาน เคยนำราชินีพันดอกกิ่งตอนจากต้นแม่ , ยักษ์ใบมัน และกิ่งตอนยักษ์จากต้นแม่ต่างๆ รวมทั้งไม้สีไปถวายวัดหลวงพ่อโตที่วัดบ้านโนนกุ่มสีคิ้ว จ.นครราชสีมา หลายๆต้น ต้นชวนชมที่วัดหลวงพ่อโตแทบทุกต้นเป็นไม้ที่แกถวายไว้ทั้งนั้น แกชื่อ เจ๊แดง “ ( วรรณี เมฆประสาน ) ถ้าเป็นพระไปขอแบ่งจากแกๆก็คงจะใจดีแบ่งให้ในราคาย่อมเยามากๆ โยมหยูอาสาจะพาไปหาโยมแดงเพื่อขอแบ่งกิ่งราชินีพันดอก ตอนนั้นยังเฉยๆอยู่เพราะเห็นว่าจากสมุทรปราการไปขอนแก่นเป็นระยะทางประมาณสี่ร้อยกิโลเมตรก็เลยไม่ค่อยกระตือรือร้นที่จะไปนัก คิดว่าหาเอาจากเพื่อนสมาชิกที่อยู่ไม่ไกลนักคงพอหาได้ และต่อมาก็ได้จากแถวชลบุรีมาสามกิ่งด้วยกัน แต่ฟอร์มกิ่งยังไม่ค่อยถูกใจนัก และช่วงนั้นราชินีพันดอกหายากขึ้นมากเพราะกำลังเป็นที่นิยมอย่างสูง มีผู้ออกมากว้านซื้อจนขาดตลาดและมีราคาแพงมาก ความคิดที่จะเดินทางไปเยี่ยมโยมแดงก็จึงเกิดขึ้น จากนั้นก็เอ่ยปากชวนโยมหยูไปด้วยกันช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว.....ที่สวนริมทางรถไฟในอ.เมือง จ.ขอนแก่น มีไม้หลากหลายที่ไม่เคยเห็นจากที่อื่นมาก่อน ( ความจริงก็ไม่ค่อยได้ไปที่สวนไหน ) เช่น ราชินีพันดอกกิ่งตอนจากต้นแม่ , ยักษ์หนองแขมกิ่งตอนจากต้นแม่เสียบตอไทยไว้หลายกิ่ง ที่ตอนลงมาใส่กระถางแล้วก็มี , กิ่งเพชรบ้านนาเสียบตอไทยไว้หลายกิ่ง , เพชรหน้าวังเอหกกิ่งตอนจากต้นแม่ , ยักษ์ใบมันกิ่งแม่สองกิ่ง , กิ่งตอนยักษ์ดำที่สีเหมือนเปลือกมังคุด และ ยักษ์บ้านวัดกิ่งตอนจากต้นแม่ .....โยมแดงได้เล่าความเป็นมาของไม้เหล่านั้นให้ฟังอย่างละเอียด ที่ละเอียดมากที่สุดก็คือยักษ์ใบมันที่โยมไปถวายไว้ที่วัดหลวงพ่อโต เพราะเป็นไม้ที่แกมีต้นแม่ไว้ในครอบครองเป็นคนแรก เรื่องยักษ์ใบมันตอนนั้นก็ได้แต่รับฟังอย่างเดียว ไม่คิดที่จะรวบรวมให้เป็นประวัติ จนต้นปีที่ไปเยี่ยมโยมอีกครั้ง โยมได้ถวายต้นลูกมาให้หนึ่งต้นและเล่าเรื่องซ้ำอีก จึงคิดที่จะรวบรวมเรื่องราวไว้ ตามที่ได้เล่าไปในกระทู้ ยักษ์ใบมันที่วัดหลวงพ่อโต ไปแล้ว เรื่องราวของกิ่งแม่ราชินีพันดอกที่แกได้มาจากโยมเสริม เทพนอก รุ่นแรกๆ และสุดท้ายก็เป็นเรื่องราวของยักษ์บ้านวัดที่ละเอียดและน่าทึ่ง ว่าเหตุใดจึงเปลี่ยนชื่อจากยักษ์บ้านวัดเป็น ยักษ์สิงห์บุรี และการเดินทางเปลี่ยนมือผู้ครอบครองของยักษ์บ้านวัดต้นแม่ อีกเรื่องหนึ่งที่ได้ทราบในวันนั้นก็คือ โยมหยูนั้นเกือบจะได้เป็นเจ้าของยักษ์บ้านวัดต้นแม่แล้วถ้าไม่เกิดความผิดพลาดทางการสื่อสารกับผู้ที่ครอบครองต่อจากเจ้าของเดิมเสียก่อน โยมแดงกับโยมหยูได้เล่าถึงผู้ที่เคยครอบครองต้นแม่เกือบครบทุกคน เพราะโยมทั้งสองรู้จักกับคนเหล่านั้น ยกเว้นเพียงสองคนก็คือ เจ้าของเดิมที่นำยักษ์บ้านวัดต้นนี้มาปลูกเลี้ยง มีเพียงคนเดียวที่รู้จักก็คือคุณมานิชย์ที่ไปซื้อไม้ต้นนี้ออกมาเป็นคนแรก และผู้ครอบครองคนสุดท้ายซึ่งเป็นที่รู้จักดีของใครหลายคนแต่หลายๆคนไม่มีความรู้จักเป็นการส่วนตัวเลย....ดอกยักษ์สิงห์บุรี ( ยักษ์บ้านวัด ) กิ่งตอนจากต้นแม่ของโยมหยูที่สวนแปดริ้ว...

  เมื่อกล่าวถึงเรื่องกิ่งและฟอร์มต้น ก็มีภาพของลูกยักษ์บ้านวัด ( สิงห์บุรี ) อีกจำนวนหนึ่งซึ่งมีเรื่องราวที่น่าสนใจควรนำมากล่าวไว้ในช่วงนี้ด้วย.....ตอนที่ได้ยักษ์บ้านวัด ( สิงห์บุรี ) ต้นแม่มาใหม่ๆ คุณมานิชย์ก็ได้เล็มกิ่งเล็กๆที่เกะกะออกมาหลายกิ่ง และเสียบไว้กับตอไทยบ้างตอฮอลแลนด์บ้างหลายตอ จนบัดนี้ทั้งตอที่เสียบกิ่งแม่ไว้ และกิ่งที่ตอนลงมาจากตอก็มีขนาดใหญ่พอสมควร และจะได้นำภาพกิ่งจากต้นแม่บางส่วนมาแสดงให้ชมภายหลัง.....หลังจากที่คุณมานิชย์ได้ขายยักษ์บ้านวัด ( สิงห์บุรี ) ต้นแม่ให้อจ.สุรชัยไปแล้ว คุณมานิชย์ก็ยังไม่มีลูกไม้ในมือ มีแต่กิ่งเสียบที่ยังอ่อนอยู่ ฝักที่เก็บไว้ได้ห้าคู่ก็ยังไม่ได้นำเมล็ดมาเพาะก็มีผู้มาขอซื้อเมล็ดไปเสียแล้ว และยังมีผู้มาถามหาซื้อลูกของยักษ์บ้านวัดจากคุณมานิชย์ๆจึงคิดที่จะหาลูกยักษ์บ้านวัดมาขายให้ผู้ที่สนใจเหล่านั้น เพราะยักษ์สายพันธุ์ใหม่นี้ได้เป็นที่นิยมชมชอบและเสาะหามาเลี้ยงของผู้นิยมชวนชมชาวขอนแก่นอย่างรวดเร็ว แต่จำนวนลูกไม้นั้นยังไม่มากพอรองรับความต้องการได้ ผู้ที่มีลูกไม้มากที่สุดคงไม่พ้นโยมอินทร์ซึ่งตอนแรกก็แจกจ่ายแบ่งให้ชาวบ้านใกล้เรือนเคียงไป ต่อมามีผู้มาขอซื้อเช่นโยมเสริมเป็นต้น แกก็เริ่มขายไปจนไม่พอขาย ต้องเก็บไว้ขยายพันธุ์ไม่กี่ต้น และที่น่าเสียดายก็คือ โยมอินทร์ไม่ได้เสียบหรือตอนหรือชำกิ่งจากต้นแม่ไว้เลย โยมเสริมและทหารอีกคนหนึ่งที่อยู่บ้านวัดก็มารับไม้จากโยมอินทร์และขายไปจนเหลือน้อยแล้ว ชาวบ้านแถวบ้านวัดและทางเมืองคงก็มีมาซื้อหรือแบ่งปันไปเลี้ยงบ้าง คุณมานิชย์เดินทางไปบ้านวัดเพื่อหาซื้อลูกยักษ์บ้านวัดมาขาย ก็ได้จากโยมอินทร์ส่วนหนึ่งซึ่งยังเล็กมากและไม่กี่ต้น ได้จากโยมเสริมยิ่งน้อยกว่าแต่ก็ได้ไม้สายพันธุ์อื่นจากโยมเสริมมาแทนเสมอ เพราะโยมเสริมหาไม้เก่ง ....เมื่อคุณมานิชย์เดินทางไปหาซื้อลูกยักษ์บ้านวัดเป็นครั้งที่สาม ในวันหนึ่ง..คุณมานิชย์ก็ไปหาโยมเสริมตามเคยเพื่อหาซื้อลูกไม้ทั้งลูกยักษ์บ้านวัดและไม้สายพันธุ์อื่นกลับขอนแก่น..โยมเสริมแนะนำให้คุณมานิชย์ลองไปถามซื้อที่ข้างบ้านของแกดูเห็นมีปลูกอยู่ต้นหนึ่ง เมื่อคุณมานิชย์ไปถามขอซื้อ เจ้าของลูกยักษ์บ้านวัดต้นนั้นซึ่งเป็นผู้หญิงก็ไม่ขายให้ แต่บอกกับคุณมานิชย์ว่าโยมอินทร์เคยแบ่งลูกไม้รุ่นแรกๆให้ลูกชายอีกคนที่อยู่ต่างจังหวัดไปเลี้ยงเมื่อหลายปีก่อน แต่ไม่รู้ว่าอยู่จังหวัดไหนใน ให้คุณมานิชย์ลองไปสืบดูเอาเอง.....ครั้งต่อมา....ระหว่างที่คุณมานิชย์ไปนั่งรับประทานอาหารที่ร้านอาหารของคุณสุนันเจ้าของเดิมยักษ์บ้านวัดต้นแม่ คุณมานิชย์นั้นรู้ว่าคุณสุนันเป็นลูกชายโยมอินทร์คนที่ไปซาอุฯกลับมา แต่คุณสุนันไม่รู้ว่าคุณมานิชย์เป็นผู้ซื้อยักษ์ต้นแม่ไปจากบ้านแก เพราะที่คุณมานิชย์ไปที่บ้านแม่ทั้งสองหนแกไม่อยู่บ้าน จึงไม่ได้พบกับคุณมานิชย์ และคุณมานิชย์ก็ไม่ได้แนะนำตัวกับคุณสุนันด้วย ทำให้คุณสุนันเข้าใจว่าคุณมานิชย์เป็นผู้สนใจมาหาซื้อลูกยักษ์บ้านวัดคนหนึ่งเท่านั้น ในตอนหนึ่งของการสนทนา คุณมานิชย์ได้สอบถามคุณสุนันถึงเรื่องลูกไม้จากต้นแม่ ว่ายังมีใครได้ไปจากโยมอินทร์ที่คุณสุนันพอทราบอีกไหม คุณสุนันก็บอกว่าเมื่อสามสี่ปีก่อนน้องชายคุณสุนันที่อยู่ อ. ประโคนชัย จ.บุรีรัมย์ ได้มาเยี่ยมบ้านและขอแบ่งลูกไม้เล็กๆขนาดเท่าหัวแม่มือยาวประมาณคืบจำนวนหนึ่งไปจากโยมอินทร์ผู้เป็นแม่ ถ้าลูกยักษ์บ้านวัดเหล่านั้นยังอยู่ป่านนี้ก็คงจะมีขนาดใหญ่พอสมควรแล้ว เพราะเป็นลูกรุ่นแรกๆที่ได้จากต้นแม่ทีเดียว คุณมานิชย์สอบถามเส้นทางไปหาน้องชายคุณสุนันพอคร่าวๆแล้ว พอวันต่อมาก็รีบขับรถไปหาน้องชายคุณสุนันที่ประโคนชัยทันทีด้วยความใจร้อน เมื่อหาน้องชายคุณสุนันจนพบก็ได้ทราบว่าแกได้ลูกไม้จากแม่มาทั้งหมดสิบห้าต้น เก็บไว้ต้นเดียว ที่เหลือขายไปหมดแล้ว คุณมานิชย์นั้นไม่สิ้นความพยายาม หลังจากสอบถามน้องชายคุณสุนันว่าจำได้หรือไม่ว่าขายให้ใครไปบ้างจะไปตามขอซื้อ ปรากฏว่าแกจำได้หมดทุกต้นที่ขายไป จากนั้นคุณมานิชย์ก็ใช้เวลามากมายในการตระเวนหาผู้ที่ซื้อลูกไม้ชุดนี้ไป ขอซื้อมาได้สิบสองต้นจากสิบห้าต้น ( ตอนนี้คุณมานิชย์เล่าให้ฟังอย่างออกรสชาติ เพราะกว่าจะได้ถึงสิบสองต้นต้องขึ้นล่องขอนแก่น ประโคนชัย หลายเที่ยวทีเดียว และเจ้าของแทบทุกต้นจะพูดภาษาเขมร ต้องหาล่ามไปแปลเจรจาขอซื้อ เล่นเอาเหนื่อยไม่ใช่น้อย ) มีเพียงสามต้นที่ตามพบแล้วแต่ซื้อไม่ได้ เพราะผู้ที่ซื้อไปเป็นเจ้าของปั๊มน้ำมัน ทั้งสามต้นใส่กระถางใบใหญ่ตั้งประดับไว้ที่ปั๊มฯ มีขนาดใหญ่กว่าสิบสองต้นนั้นมาก เพราะเอาใจใส่ดูแลดี ไม่เหมือนกลุ่มที่คุณมานิชย์ตามมาได้ ส่วนใหญ่จะเลี้ยงแบบปล่อยไปตามยถากรรม แต่ก็ดีไปอย่างคือทำให้ราคาที่ซื้อออกมาไม่สูง ต่างจากราคาที่คุณมานิชย์ขายไปมาก.....

           จากบ้านวัด พลัดถิ่นไปสิงห์บุรี มาหยุดลงตรงที่ บ้านคุณหญิงฯ “ ...ย้อนกลับไปเมื่อสองปีที่แล้ว เป็นช่วงที่กำลังสนใจและหาชวนชมมาปลูกเลี้ยง พอได้เห็นชื่อไม้ตระกูลยักษ์ซาอุฯสายพันธ์ต่างๆ เช่น ยักษ์ลพบุรี ยักษ์อยุธยา ยักษ์เกษตร ยักษ์สิงห์บุรี ยักษ์องครักษ์ ฯลฯ ความที่เป็นผู้เริ่มต้นใหม่ก็รู้สึกสับสนว่ามีจำนวนมาก เป็นการยากที่จะสามารถจดจำและแยกแยะลักษณะสายพันธุ์ทุกสายพันธุ์ได้อย่างละเอียด และคิดว่าอยู่ในกลุ่มภาคกลางเดียวกันคงมีลักษณะทางสายพันธุ์ไม่แตกต่างกันนัก เพียงแต่ตั้งชื่อต่างกันไปตามท้องถิ่นที่มีผู้นำไปขยายพันธุ์และจำหน่ายเท่านั้น เป็นเหตุให้มีความสนใจที่จะจดจำรายละเอียดลักษณะเด่นทางสายพันธุ์ของยักษ์ฯอื่นๆน้อยไปด้วย บวกกับความที่ยังไม่เคยเห็นลักษณะที่ถูกต้องตามสายพันธุ์ของยักษ์ฯเหล่านั้น จะมีสนใจอยู่บ้างก็คือราชินีพันดอกที่ได้คำกล่าวขานว่ามีดอกดกสมชื่อ กิ่งมีรายละเอียดสวยงาม ใบเล็กกว่ายักษ์ฯทุกสายพันธุ์ รวมความว่าสวยงามที่สุดกว่าทุกสายพันธุ์ ประกอบกับมีไม้ที่ชอบเป็นหลักอยู่อีกหนึ่งชนิดคือ เพชรบ้านนา ซึ่งเป็นไทยโซโคฯที่สวยงามทั้งราก, โขด, กิ่ง, ใบ และดอก เป็นเอกลักษณ์ของตัวเองโดดเด่นแปลกตาไปจากชวนชมสายพันธุ์อื่น....กลางปีที่แล้วได้ไปสวนโยมพจน์ ( หยู ) ที่แปดริ้วเพื่อขอแบ่งลูกไม้เพชรบ้านนาจากโยมมาปลูกเลี้ยง ที่สวนของโยมหยูนอกจากจะมีเพชรบ้านนาของโยมและของท่านนายพลที่ฝากไว้ที่สวนของโยมซึ่งทั้งใหญ่และสวยงามอย่างยิ่งกับทั้งมีจำนวนมากแล้ว ยังมียักษ์ฯสายพันธุ์ต่างๆให้เห็นหลายต้นหลายขนาดแต่ไม่รู้จักชื่อเลยสักต้น ในตอนนั้นยังมุ่งสนใจที่จะชมแต่เพชรบ้านนาอย่างเดียว ก็เลยไม่ได้สอบถามชื่อและรายละเอียดจากโยม ต่อเมื่อนำภาพที่ถ่ายไว้มาค่อยๆพิจารณาดู ก็เริ่มสนใจขึ้นมาบ้าง พอไปเยี่ยมสวนโยมครั้งต่อมาก็เลยถามโยมถึงชื่อยักษ์ฯเหล่านั้น ชื่อต่างๆก็เริ่มทะยอยกันเข้ามาสู่การรับรู้ เช่น ยักษ์ไชน่า, เพชรโนนไทย , ยักษ์หางหนู , ยักษ์ญี่ปุ่น , ยักษ์ลพบุรี และยักษ์สิงห์บุรี โดยเฉพาะเพชรโนนไทยกับยักษ์สิงห์บุรีนั้น โยมมีกิ่งตอนจากต้นแม่ปลูกไว้ในสวนด้วย เพชรโนนไทยเป็นกิ่งตอนที่ใหญ่มากจนมีโขดโตทำให้คิดว่าเป็นไม้เพาะเมล็ด แต่โยมยืนยันว่าเป็นกิ่งที่ตัดมาจากต้นแม่แน่นอน หากมีโอกาสวันหน้าจะได้นำเรื่องราวของเพชรโนนไทยต้นแม่มาเสนอจากคำบอกเล่าของโยมหยูซึ่งรู้จักและสนิทสนมกับเจ้าของต้นแม่เป็นอย่างดี......ในส่วนของยักษ์สิงห์บุรีที่สวนโยมมีกิ่งจากต้นแม่ถึงสี่กิ่ง จำหน่ายไปหนึ่งกิ่งเหลืออยู่สามกิ่ง ตอนที่โยมชี้ให้ดูกิ่งทั้งสามกิ่งและบอกว่าชื่อยักษ์สิงห์บุรี ก็ไม่เห็นความโดดเด่นอะไรจากกิ่งทั้งสามเพราะดอกยังไม่ออกเต็มที่ รูปทรงกิ่งก็สูงๆผอมๆขนาดไม่ใหญ่นัก ประมาณเท่าท่อนขาคนปกติ กิ่งก้านก็น้อยและเก้งก้างไม่มีลีลาอะไรใ ห้ประทับใจ ถามชื่อจากโยมพอโยมบอกชื่อมาก็รับรู้และหมดความสนใจเพียงเท่านั้นไม่ติดใจถามต่อไป...


    เมื่อได้ฟังเรื่องราวของยักษ์บ้านวัดจากโยมแดงในคราวนั้น ยังไม่มีความคิดที่จะรวบรวมเรื่องราวไว้ เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องยากที่จะไปตามหาบุคคลต่างๆที่เกี่ยวข้องเพื่อสัมภาษณ์และเก็บภาพเจ้าตัวไว้เป็นหลักฐานเพื่อให้เรื่องราวสมบูรณ์ได้ครบทุกคน และคาดว่าคงมีผู้ทราบรายละเอียดเรื่องราวนี้ได้บอกเล่ากันในวงการผู้นิยมชวนชมอย่างกว้างขวางแล้ว การที่เราเพิ่งเริ่มนิยมชวนชมได้ไม่ถึงสองปีจะไปทำคงไม่เหมาะ คงจะไม่มีใครเชื่อถือ.....ก่อนหน้าที่จะได้ฟังเรื่องราวจากโยมแดงก็เคยได้ฟังจากผู้ชำนาญเรื่องยักษ์ซาอุฯมาบ้างโดยไม่ละเอียดว่ายักษ์สิงห์บุรีเป็นต้นแม่ของต้นแม่เพชรเมืองคง แต่ก็ไม่ได้บอกว่ายักษ์สิงห์บุรีกับยักษ์บ้านวัดนั้นเป็นไม้ตัวเดียวกัน ตอนนั้นก็เริ่มเก็บความสงสัยเรื่อยมาจนได้มาฟังจากโยมแดงได้ความกระจ่างพอสมควร..วันนั้นกลับจากสวนโยมแดงโดยที่ไม่มีกิ่งตอนยักษ์บ้านวัดติดมือกลับมา เพราะโยมยังหวงอยู่ ได้กิ่งตอนราชินีพันดอกกับกิ่งตอนยักษ์หนองแขมมาอย่างละกิ่ง ไปหนที่สองหลังปีใหม่ไม่ถึงเดือนโยมก็ยังไม่แบ่งให้มาอีก ( จนกระทั่งไปเยี่ยมโยมหนที่สามเพื่อถ่ายภาพยักษ์ใบมันต้นแม่ที่วัดหลวงพ่อโตนั่นแหละ โยมจึงใจอ่อนแบ่งกิ่งตอนยักษ์บ้านวัดจากต้นแม่ขนาดโคนประมาณห้านิ้วมาให้หนึ่งกิ่ง ) แต่วันนั้นก็ได้แบ่งกิ่งตอนราชินีพันดอกกิ่งใหญ่มาหนึ่งกิ่งกับกิ่งตอนยักษ์หางหนูมาด้วย แถมด้วยต้นลูกของยักษ์ใบมันมาในคราวนี้ หลังจากนั้นไม่กี่วันโยมหยูก็โทรมาหาบอกว่าได้ไปเยี่ยมท่านเสธ.ณรงค์ผู้ที่เคยได้ครอบครองต้นแม่ยักษ์บ้านวัดมาก่อนซึ่งท่านอยู่ที่จ.ลพบุรี และโยมก็ได้กิ่งต้นแม่ของยักษ์บ้านวัดกับกิ่งต้นแม่ของยักษ์ลพบุรีจากท่านเสธ.มาอีกหลายกิ่ง อยากจะถวายให้อย่างละกิ่ง ถ้าว่างก็นิมนต์ให้ไปรับกิ่งต้นแม่ทั้งสองสายพันธุ์นี้ด้วย จึงไปตามคำนิมนต์ของโยมหยู ๆถวายกิ่งต้นแม่ขนาดโคนประมาณสองนิ้วครึ่งมาให้สองกิ่ง จึงได้ขอบคุณและอนุโมทนาต่อโยมหยูเป็นอย่างมากในคราวนั้น ช่วงนั้นเองที่กิ่งตอนยักษ์บ้านวัดของโยมหยูทั้งสามกิ่งก็ออกดอกสะพรั่งเป็นช่อมองเหมือนลูกตะกร้อสวยงามมาก ได้เก็บภาพดอกมาให้ชมอย่างที่เห็นกันแล้ว พอได้เห็นดอกที่ดกบานสะพรั่งเป็นช่อกลมสีสวย ตอนนี้เองก็เริ่มสนใจเรื่องราวเกี่ยวกับยักษ์บ้านวัดอย่างจริงจัง เพราะที่ผ่านมายังไม่พบว่ามีบทความจากสื่อใดๆหรือการตั้งกระทู้ในเว็บไซท์ไหนเสนอเรื่องราวอย่างละเอียด จึงคิดว่าน่าจะลองพยายามรวบรวมเรื่องของยักษ์บ้านวัดจากพื้นฐานข้อมูลที่มีอยู่นี้เพิ่มเติมอีกให้ละเอียดที่สุดเท่าที่จะรวบรวมมาได้แล้วจึงนำมาเสนอในบอร์ดแห่งนี้คงเป็นประโยชน์บ้างเล็กๆน้อยๆสำหรับผู้ที่สนใจอยากรู้ อย่างน้อยก็ให้ได้รับทราบถึงความสวยงามจับตาของดอกยักษ์บ้านวัดที่เป็นช่อสะพรั่งเวลาบานเต็มที่ เพราะเคยมีผู้ตั้งกระทู้ถามถึงประวัติยักษ์สิงห์บุรีเป็นระยะๆมานานพอสมควรแล้วแต่ยังไม่มีผู้ตอบและอธิบายรายละเอียดที่มาอย่างจริงจัง......


F 1 ที่บ้านผมครับ

   ..........เมื่อตัดสินใจลงมือรวบรวมข้อมูลของยักษ์บ้านวัดอย่างจริงจัง ก็ต้องใช้เวลาย้อนไปสืบค้นหลักฐานทั้งบุคคลที่มีความเกี่ยวข้อง , ภาพถ่าย , เหตุการณ์ , สถานที่และเวลา เพื่อนำมาปะติดปะต่อเรื่องราวให้โยงถึงกันอย่างถูกต้องตรงความเป็นจริงให้มากที่สุด เริ่มต้นรวบรวมเมื่อประมาณต้นเดือนกุมภาพันธ์ มาได้หลักฐานมากจนเป็นที่พอใจคือไม่สามารถจะหาได้มากไปกว่านี้อีกแล้วเมื่อต้นเดือนมิถุนายนนี้เอง ควบคู่ไปกับเรื่องราวของยักษ์ใบมันที่วัดหลวงพ่อโตที่รวบรวมเสร็จก่อนและได้เสนอไปก่อนแล้วเมื่อปลายเดีอนเมษายนที่ผ่านมา......คนสำคัญสองคนที่จะขาดไปไม่ได้เลย จำเป็นต้องไปพบเพื่อสอบถามเรื่องราวให้สมบูรณ์ก็คือ คุณมานิชย์ผู้ที่ได้ซื้อต้นแม่ยักษ์บ้านวัดออกมาจากคุณแม่ของเจ้าของเดิม และเจ้าของเดิมผู้นำยักษ์บ้านวัดต้นแม่เข้ามาปลูกเลี้ยงในประเทศไทยเป็นคนแรก.....การติดต่อกับคุณมานิชย์นั้นทำโดยมีโยมแดงเป็นผู้ให้หมายเลขโทรศัพท์ นับว่าเป็นเรื่องที่สะดวกและได้หลักฐานที่เป็นประโยชน์คืบหน้าในการรวบรวมอย่างมาก เพราะคุณมานิชย์นั้นได้ถ่ายภาพเก็บไว้หลายภาพ รวมทั้งความทรงจำในเหตุการณ์ที่ดีช่วยให้ได้ข้อมูลหลักฐานมากที่สุด และหวังว่าคุณมานิชย์จะเป็นผู้เชื่อมโยงไปถึงเจ้าของต้นไม้เดิมนี้ได้.....แต่ทว่า.... คุณมานิชย์ก็ไม่สามารถติดต่อทางโทรศัพท์กับเจ้าของเดิมที่นำต้นแม่เข้ามาได้ เพราะทั้งสองคนเคยพบและสนทนากันเพียงครั้งเดียวในภายหลังจากที่ซื้อต้นแม่นั้นออกมาจากบ้านเจ้าของเดิมแล้ว โดยที่คุณมานิชย์ก็ไม่ได้สอบถามเรื่องราวของยักษ์บ้านวัดในช่วงที่อยู่ในประเทศซาอุฯ รู้จักแต่ชื่อจากที่คุณแม่ของแกเป็นคนบอกและลืมไปแล้วเวลาต่อมา เรื่องราวของต้นแม่ที่อยู่ในประเทศซาอุนั้นคุณมานิชย์ก็ได้ฟังจากคำบอกเล่าของโยมอินทร์ซึ่งถ่ายทอดมาจากลูกชายที่ไปอยู่ประเทศซาอุฯและนำต้นแม่นี้กลับมาอีกที อาจจะตกหล่นไปหรือไม่ละเอียดพอในบางแง่มุม ควรจะสอบถามจากเจ้าของต้นที่นำเข้ามาด้วยตัวเองจะเป็นการดีที่สุด การสืบหาเจ้าของเดิมต้นแม่จึงทำได้วิธีดียวในตอนนั้น คือต้องเดินทางไปตามหาตัวแกที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งชื่อว่า บ้านวัด ต. เทพาลัย อ. คง จ.นครราชสีมา ซึ่งต้องรอโอกาสที่สะดวกและไม่อยากเสี่ยงต่อความผิดพลาดที่จะเกิดขึ้นคือตัวแกไม่อยู่บ้านทำให้ไปเก้อ เพราะฉะนั้น... ทางที่ดีก็ต้องหาทางติดต่อกับแกทางโทรศัพท์ให้ได้เสียก่อนเพื่อนัดหมายกันก่อนที่จะเดินทางไปพบ จึงต้องชะงักรอเวลา จนกระทั่งได้พระเอกขี่ม้าขาวมาช่วย..... เมื่อวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา คุณกฤตย์หนวดงาม สมาชิกหมายเลข ๕๙ ของเว็บเราก็ได้โพสกระทู้ชื่อ ทริปนี้แกะรอยยักษ์ดังเมืองอีสาณ ในกระทู้นั้นคุณกฤตย์ระบุว่าบังเอิญไปพบกับคุณ นัน หรือ นง เปิดร้านอาหารและจำหน่ายชวนชมตรงเลยทางแยกบ้านวัด - คง ไปหน่อยหนึ่ง และคุณนันหรือนงนั้นระบุว่าตนเองเป็นผู้นำยักษ์บ้านวัดเข้ามาเมืองไทย ก็เลยชักเข้าเค้า แต่น่าเสียดายที่คุณกฤตย์ไม่ได้ขอเบอร์โทรแกไว้ จึงได้แต่โทรไปถามคุณมานิชย์เพื่อกระตุ้นต่อมความทรงจำชื่อของเจ้าของเดิมให้ได้..... พอพูดชื่อว่านงหรือนันเท่านั้น ต่อมความทรงจำคุณมานิชย์ก็ทำงานทันที ร้องออกมาว่า จำได้แล้ว.....ชื่อพี่สุนัน..... ได้ความคืบหน้ามาอีกอย่างคือชื่อของเจ้าของต้นแม่เดิม แต่ก็ยังติดต่อกันไม่ได้อยู่ดี... ถึงกระนั้นก็ยังพอมีทางติดต่อได้โดยที่ยังไม่ต้องเดินทางไปหาตัวแกที่บ้านวัด คือมานึกได้ว่ามีสมาชิกท่านหนึ่งหมายเลข ๒๗๙ ชื่อ สิบเอกกฤษณา แสงแก้ว ระบุที่อยู่ไว้ว่าอยู่ที่บ้านวัด ต. เทพาลัย อ.คง จ. นครราชสีมา ได้การแล้ว.... คงอยู่ไม่ไกลกันอาจจะรู้จักกันด้วยซ้ำถ้ามีโชค ลองโทรไปสอบถามคุณกฤษณาดู ก็ปรากฏว่าโชคช่วยจริงๆ..... คุณกฤษณารู้จักกับโยมสุนันดีแต่ไม่ทราบเบอร์โทรโยมสุนัน แต่ได้พบกันเกือบทุกวัน คุณกฤษณารับปากจะถามเบอร์โทรโยมสุนันให้ สองสามวันต่อมาก็ได้รับทราบข่าวดีคือได้เบอร์โทรมา จึงรีบโทรไปหาโยมสุนันทันที..... เมื่อได้พูดคุยทางโทรศัพท์กับโยมสุนัน จากนั้นนัดหมายกับแกว่าจะเดินทางไปพบและได้พบพูดคุยกันในวันที่ ๒๖ พฤษภาคมที่ผ่านมา เรื่องราวอันเป็นปฐมภูมิของต้นแม่ยักษ์บ้านวัดก็ค่อนข้างสมบูรณ์มากขึ้นเหมือนได้พบ jigsaw ชิ้นสำคัญที่สุดที่จะทำให้ภาพนั้นต่อเสร็จ......
             ต่อจากนี้ไป..... เป็นเรื่องราวของยักษ์บ้านวัดต้นแม่ตั้งแต่ต้นที่ใช้เวลารวบรวมหลักฐานข้อมูลร่วมสี่เดือนจึงได้ตัดสินใจนำมาโพสเสนอในเว็บบอร์ดแห่งนี้ ท่านผู้ที่ได้อ่านกระทู้นี้จะเห็นว่ายาวยืดยาดมากน่าเบื่อ ก็คิดเสียว่าอ่านเรื่องเล่าเล่นๆเพลินๆไป....... สิ่งหนึ่งที่จะขอหลีกเลี่ยงก็คือ การระบุตัวเลขมูลค่าของยักษ์บ้านวัดต้นแม่นี้ในการเปลี่ยนมือผู้ครอบครองแต่ละครั้ง เพราะมีการเปลี่ยนมือหลายครั้งจึงทำให้มูลค่านั้นมีความต่างมากขึ้นทุกครั้ง การระบุตัวเลขมูลค่าจะเป็นการกระทบความรู้สึกของบุคคลจึงขอละไว้ไม่กล่าวถึง......


    .........ประเทศราชอาณาจักรซาอุดิอาระเบียอันเป็นแหล่งกำเนิดชวนชมยักษ์ซาอุฯหลายสายพันธุ์รวมทั้งสายพันธุ์เพชรบ้านนาด้วยนั้น ตั้งอยู่บนคาบสมุทรอาหรับร่วมกับหลายๆประเทศกลุ่มมุสลิมหรือที่เรียกกันว่ากลุ่มประเทศตะวันออกกลาง มีพื้นที่ใหญ่กว่าประเทศไทยเราเกือบสี่เท่า แบ่งพื้นที่ของประเทศออกเป็น ๑๓ เขตปกครอง แต่ละเขตปกครองจะมีเมืองเอกหนึ่งเมืองและเมืองต่างๆหลายเมือง สภาพภูมิประเทศค่อนข้างแห้งแล้งกันดาร บางส่วนเป็นภูเขาหินสูงๆต่ำๆ บางส่วนเป็นป่าละเมาะ บางส่วนเป็นทะเลทรายร้อนระอุ ส่วนที่เป็นทะเลทรายจะไม่ค่อยมีต้นชวนชมขึ้น จะพบต้นชวนชมงอกขึ้นตามพื้นหรือตามซอกหินส่วนที่เป็นภูเขาหินมากกว่า บริเวณที่พบต้นชวนชมยักษ์ซาอุฯ ( Adenium arabicum ) ส่วนใหญ่จะเป็นเมืองที่ใกล้ชายฝั่งทะเลรวมทั้งเมืองของประเทศในคาบสมุทรอาหรับอื่นๆที่อยู่ใกล้ชายฝั่งทะเลเช่นกัน ใต้ประเทศซาอุฯลงไปก็คือประเทศเยเมนที่พบชวนชมทั้งสายพันธุ์อาราบิคัมและสายพันธุ์โซโคทรานัม ( Adenium socotranum ซึ่งสายพันธุ์โซโคทรานัมจะพบที่เกาะโซโคตร้าของประเทศเยเมนเท่านั้น ) นอกจากนั้นหากข้ามทะเลแดงที่อยู่ทางทิศตะวันตกของประเทศซาอุฯไปยังฝั่งทวีปอาฟริกา ประเทศแถบชายฝั่งทวีปอาฟริกาหลายๆประเทศ เช่น โซมาเลีย แทนซาเนีย เคนย่า โมซัมบิค ฯลฯ ก็จะได้พบชวนชมสายพันธุ์อื่นๆอีกมาก เช่น Adenium obesum ( ตอไทย , ฮอลแลนด์ ) Adenium somalense ( ยักษ์ญี่ปุ่น , ยักษ์อเมริกา , มังกรแดง ) Adenium multifirum ( แดงอาฟริกา ฯลฯ ) เป็นต้น.......ดังนั้น.....จึงเป็นเหตุให้สันนิษฐานด้วยความเห็นส่วนตัวได้ว่า ชวนชมนั้นทนแดดทนความแห้งแล้งได้ดีก็จริง นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าชวนชมจะชอบความแห้งแล้งแบบทะเลทราย แต่กลับมีแนวโน้มว่าชวนชมหลายสายพันธุ์โดยเฉพาะสายพันธุ์ยักษ์ซาอุฯจะชอบภูมิอากาศแบบร้อนชื้นเหนือเขตเส้นศูนย์สูตรขึ้นมาเล็กน้อยมากกว่า โดยความชื้นนั้นมาจากลมทะเลพัดหอบเข้ามาสู่แผ่นดิน ลึกเข้าไปในใจกลางคาบสมุทรอาหรับซึ่งภูมิอากาศค่อนข้างแห้งแล้ง บางแห่งแห้งแล้งจัดจนเป็นทะเลทรายก็จะไม่ค่อยเห็นพบชวนชมแล้ว....
กลับมาที่ประเทศซาอุฯ.... ในแผนที่ที่ตัดย่อมาประกอบ วงสีแดงที่ 1 คือเขตปกครองที่ 8 ชื่อว่า อะซีร์ ( Asir ) “ มีเมืองเอกที่ชื่อว่า คามิส มูเชต ( Khamis Musayt ) “ ที่ชวนให้สันนิษฐานว่า เมืองคามิส มูเชต นี้เอง จะเป็นเมืองเดียวกับเมือง คัมมิต ที่เป็นแหล่งกำเนิดของชวนชมเพชรบ้านนาต้นแม่ของเมืองไทยเรา เพราะพยายามหาชื่อเมืองที่ชื่อ คัมมิต สะกดและออกเสียงตรงๆตัวเท่าไหร่ก็หาไม่พบ นอกจากเมืองคามิส มูเชต ที่ออกเสียงได้ใกล้เคียงที่สุดแล้ว หากท่านใดทราบว่าเมือง คัมมิต ตั้งอยู่ตรงส่วนไหนของประเทศซาอุดิอาระเบีย ก็ขอความกรุณาแสดงตำแหน่งที่ตั้งนั้นให้ทราบเป็นวิทยาทานด้วยจะขอบคุณมาก เพราะจะช่วยให้เข้าใจได้ถูกต้อง.....สมมติว่าเมืองคามิส มูเชต เป็นเมืองเดียวกับเมืองคัมมิต ก็แสดงให้เห็นว่า ถิ่นกำเนิดของชวนชมเพชรบ้านนานั้นอยู่ในเมืองใกล้ชายฝั่ง
ทะเล สนับสนุนข้อสันนิษฐานส่วนตัวที่ว่าชวนชมชอบความชื้นเหมือนกัน ยิ่งวงสีแดงที่ 3 คือเกาะโซโคตร้าของประเทศเยเมนอันเป็นแหล่งกำเนิดชวนชมสายพันธุ์โซโคทรานั่มแล้ว สภาพภูมิประเทศมีแต่น้ำทะเลล้อมรอบทีเดียว....วงสีแดงที่ 2 คือเขตปกครองที่ 10 ชื่อว่า จีซาน ( Jizan ) “ เมืองเอกชื่อเดียวกันกับเขตปกครอง พื้นที่ ติดต่อกันกับเขตปกครองอะซีร์ ถัดมาทางทิศตะวันตก ตั้งอยู่ชายฝั่งติดกับทะเลแดงเลย บางครั้งคนที่อยู่ซาอุฯก็เรียกทะเลบริเวณนี้ว่า ทะเลจีซาน เขตปกครองจีซานนี้เองที่เป็นถิ่นกำเนิดของชวนชมหลายชนิด รวมทั้ง ยักษ์บ้านวัด ที่กำลังมุ่งกล่าวถึงความเป็นมาอยู่นั่นเอง......


ขอแนะนำให้รู้จักกับท่านผู้นี้.....คุณ สุนัน สนตาเถร ปัจจุบันอยู่ที่ร้านอาหาร ท้ายบ้าน เลขที่ ๒๓๗ หมู่ ๙ บ้านวัดต.เทพาลัย อ.คง จ. นครราชสีมา..คุณสุนันได้เดินทางไปทำงานที่ต่างประเทศตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๔ คือเมื่อ ๒๖ ปีที่แล้ว ประเทศที่ไปเป็นประเทศแรกคือประเทศลิเบีย ( Libya ) ซึ่งอยู่ในทวีปอาฟริกา ทำงานอยู่ที่ลิเบียได้สามปีก็เดินทางกลับประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๗ ..
ปีถัดมาคือปี พ.ศ. ๒๕๒๘ คุณสุนันก็เดินทางไปทำงานที่ต่างประเทศอีกครั้ง ครั้งนี้ไปที่ประเทศซาอุดิอาระเบีย ไปทำงานกับบริษัท กงยง ซึ่งเป็นบริษัทรับเหมาสร้างทางของเกาหลี ตั้งแคมป์อยู่ที่ใกล้เมืองจีซาน ในเขตปกครองจีซานทางใต้ของประเทศติดทะเลแดงที่อยู่ทางทิศตะวันตก.....ภาพนี้เป็นคุณสุนันที่ถ่ายตอนไปเที่ยวกับเพื่อนๆนอกเมืองจีซาน ถ่ายเมื่อปีพ.ศ. ๒๕๒๘ ขณะที่มีอายุ ๓๓ ปี....



   ภาพที่ถ่ายตอนปัจจุบัน...ถ่ายที่หน้าร้านอาหาร ท้ายบ้าน ตอนไปพบกันเป็นครั้งแรกตามนัดที่บ้านวัดเมื่อวันที่ ๒๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๐ เวลาห่างกัน ๒๒ ปี วันนี้คุณสุนันมีอายุ ๕๕ ปีแล้ว....ปัจจุบันคุณสุนันเป็นสมาชิก อ.บ.ต. เทพาลัย และเคย ดำรงตำแหน่งนายกสภา อ.บ.ต. เทพาลัยมาหนึ่งสมัย......


บรรยากาศหน้าร้านอาหาร ท้ายบ้าน ตั้งยักษ์บ้านวัดต้นลูกขนาดใหญ่ไว้สองต้นเป็นลูกหลานของต้นแม่ที่สืบต่อกันมาหลายรุ่นแล้ว ลักษณะกิ่งใบก็ยังเหมือนต้นแม่อยู่มาก กำลังติดฝักอยู่ ใช้ถุงผ้าห่อฝักไว้ ......


   อีกต้นหนึ่งที่เหมือนต้นแม่พอสมควร ฟอร์มกิ่งก็นับว่าสวยไม่น้อย....


   กำลังดูรูปถ่ายของคุณมานิชย์ ที่ผู้ตั้งกระทู้ได้มาจากคุณมานิชย์ส่งมาให้ทางไปรษณีย์จากขอนแก่นก่อนหน้านั้นสักสองสัปดาห์ และพกติดย่ามไปให้        คุณสุนันได้ชมหลังกลับจากไปเยี่ยมคุณมานิชย์ที่ขอนแก่นในวันเดียวกันนั้น ด้านหลังเป็นคุณมิ่งขวัญ ภรรยาคุณสุนันที่แต่งงานกันหลังจากที่คุณสุนันเดินทางกลับจากประเทศซาอุฯได้สี่เดือน.....

                                     

   คุณสุนันเล่าถึงความทรงจำครั้งเมื่อทำงานอยู่ที่ประเทศซาอุดิอาระเบียในวันที่ไปเยี่ยมที่ร้านอาหารท้ายบ้านว่า สภาพ ภูมิประเทศรอบๆบริเวณแคมป์พักคนงานนั้น เป็นภูเขาหินปนดินสูงๆต่ำๆซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเขาหัวโล้นสลับไปกับป่าละเมาะที่ขึ้นตามเชิงเขา ที่ราบหรือทะเลทรายไม่มีให้เห็น ชาวบ้านแถวนั้นอาศัยอยู่ตามเชิงเขาที่เป็นเนินสูงๆต่ำๆ และต้องคอยระวังหลังฝนตกหนักหรือตกหลายๆวันจะมีน้ำป่าไหลบ่าลงมาตามเขาหิน กระแสน้ำจะรุนแรงมากขนาดพัดรถยนต์ลอยตามกระแสไปไกลๆได้ ป่าละเมาะมีสัตว์ป่าให้พบเห็นบ้าง ที่พบมากที่สุดก็คือฝูงลิง มีนกอินทรีย์บินล่าสัตว์ตอนกลางวัน ตอนกลางคืนจะมีสัตว์จำพวกหนูทะเลทรายออกมาหากินให้เห็น มีลำธารสายเล็กๆไหลผ่านใกล้ๆแคมป์ ริมลำธารจุดที่ใกล้แคมป์มีต้นมะขามใหญ่อยู่หลายต้นหมือนมะขามที่พบในเมืองไทยเรา ชาวบ้านแถวนั้นมักจะเลี้ยงปศุสัตว์เช่น แพะ หรือแกะ และจะต้อนฝูงแพะหรือแกะผ่านบริเวณใกล้แคมป์ไปยังชายป่าละเมาะเพื่อให้ปศุสัตว์ได้กินหญ้า .....ที่เชิงเขาลูกหนึ่งไม่ไกลจากแคมป์ มีต้นชวนชมรูปทรงแปลกตางอกพ้นหินขึ้นมาต้นหนึ่ง ลำกิ่งลำเดียวขนาดเท่าเสาหน้าหกผิวหยาบเหมือนต้นลีลาวดีแก่ๆตั้งเอนๆสูงท่วมหัว แล้วค่อยแตกกิ่งย่อยออกมา ไม่ได้มีลักษณะเป็นโขดที่โคนต้นอย่างชวนชมที่พบในบ้านเราทั่วๆไป ถ้าจะเหมือนก็คงเหมือนกับกิ่งชำมากกว่า ความสูงจากโคนถึงยอดประมาณสองเมตรกว่าๆซึ่งก็ดูไม่ได้ใหญ่โตอะไร มองเผินๆเหมือนต้นไม้ธรรมดาทั่วไป โดยเฉพาะเหมือนต้นลีลาวดี คุณสุนันบอกว่าที่โคนต้นจะถูกปศุสัตว์เอากีบเท้าขุดตะกุยจนเป็นรอยแผลถลอกเต็มไปหมด และที่ลำกิ่งเดี่ยวนั้นเอนลงก็คงเพราะสัตว์เลี้ยงเหล่านั้นเอาเขาดันจนเอนไปเห็นได้ชัด ใกล้ๆโคนต้นจะมีต้นลูกเล็กๆที่เกิดจากเมล็ดของฝักต้นแม่งอกขึ้นหลายต้นและก็มีลักษณะเป็นกิ่งลำเดียวยาวๆโคนเล็กๆไม่มีโขดเหมือนต้นแม่ไม่มีผิด แต่ผิวต้นจะเรียบและสีอ่อนกว่าต้นแม่ พอที่จะให้ดูรู้ว่าเป็นชวนชมบ้าง ไม่ทราบว่าชวนชมต้นนั้นได้ต่อสู้กับความแข็งแกร่งของพื้นภูเขาซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นหินมีดินปนเป็นส่วนน้อย ชำแรกปฐพีแห่งเขาหินขึ้นมาได้แล้วยังถูกกระหน่ำจากกีบเท้าปศุสัตว์ฝากร่องรอยแห่งการกระทำนั้นให้เห็นประจักษ์ ซ้ำยังถูกปศุสัตว์ที่ประลองพลังความห้าวเอาเขาดันจนต้นเอียงเอน ยืนหยัดท้าทายอุปสรรคแห่งชีวิตผ่านกาลเวลาอันแสนยากเข็ญอย่างทรหดอดทนมาจนถึงวันที่คุณสุนันไปพบเห็นนั้น เป็นเวลากี่ปีก็เกินที่จะคาดเดา.......คุณสุนันเล่าต่อไปว่าตอนที่เห็นชวนชมต้นนั้นครั้งแรกก็ไม่ได้ติดใจอะไร ไม่แน่ใจว่าเป็นต้นชวนชมด้วยซ้ำเพราะรูปร่างของต้นดังกล่าว แต่ต่อมาคุณสุนันได้พบกับความน่าทึ่งของไม้สายพันธุ์นี้ โดยที่มีคนงานหลายคนที่มาอยู่ก่อนคุณสุนันหลายปีไปถอนลูกต้นเล็กๆของชวนชมต้นนั้นมาปลูกลงกระถางใช้ดินเป็นเครื่องปลูก ก็ปรากฏว่าลูกไม้เหล่านั้นเริ่มเปลี่ยนรูปร่างไป จากที่มีลักษณะเป็นลำเล็กๆลำเดียว รากที่ถอนขึ้นมาจากหินก็มีลักษณะเป็นรากธรรมดาและโตช้ามาก กลายเป็นไม้โตเร็วและรากก็ค่อยๆโตขึ้นจนเป็นโขดแบบชวนชมที่รู้จักดี และกิ่งที่เป็นลำเดี่ยวจนเหมือนลำต้นก็ค่อยๆแตกงอกออกจากส่วนโคนเป็นหลายๆกิ่ง พอคุณสุนันไปพบลูกไม้ที่โตในกระถางเข้าก็ทึ่งในการปรับเปลี่ยนลักษณะทางกายภาพตัวเองของไม้สายพันธุ์นี้ ที่พออยู่ดีกินดีก็เริ่มตุนอาหารไว้ที่รากจนกลายเป็นโขดใหญ่โต ตอนที่อดๆอยากๆรากก็ดูดซึมอาหารจ่ายไปเลี้ยงทั่วต้นอย่างแร้นแค้นกระเบียดกระเสียน ไม่มีไขมันส่วนเกินให้ลงพุง ( ตรงนี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัว ) และจากความทึ่งก็เปลี่ยนเป็นความชอบอยากนำกลับมาปลูกเลี้ยงที่เมืองไทย เพราะไปเห็นต้นที่ใหญ่ที่สุดของคนงานรุ่นพี่คนหนึ่งปลูกไว้ในปี๊ปหลายปี โตจนโขดเต็มปี๊ป และกิ่งก็มีหลายกิ่งเป็นลำขึ้นมาดูแล้วสวยงามผิดกับต้นแม่ลิบลับ.....เมื่ออยู่ทำงานที่แคมป์แห่งนี้ได้ประมาณหนึ่งปี ก่อนที่จะเดินทางกลับประเทศไทยหนึ่งวัน คุณสุนันก็เดินไปที่บริเวณใกล้ๆต้นแม่และถอนต้นลูกเล็กๆขนาดโตเท่าหัวแม่มือยาวประมาณคืบกว่า (แต่อายุน่าจะไม่น้อยแล้วคงจะไม่ต่ำกว่าหนึ่งปีเพราะโตช้า )ที่งอกพ้นซอกหินขึ้นมาสองต้น นำมาล้างจนสะอาดและผึ่งจนแห้ง ซุกไว้ในผ้าห่มขนสัตว์รวมกับเมล็ดอินทผลัมจำนวนหนึ่งที่ตั้งใจจะเอามาเพาะเลี้ยงที่เมืองไทย ปูพับผ้าห่มขนสัตว์ผืนนั้นรองไว้ชั้นล่างสุดในกล่องใส่โทรทัศน์สี SONY trinitron ที่ฝากหัวหน้าคนงานซื้อมาให้จากเมืองริยาดก่อนที่คุณสุนันจะเดินทางกลับประเทศไทยประมาณสามสัปดาห์ และคุณสุนันก็นำโทรทัศน์สีเครื่องนั้นพร้อมทั้งลูกชวนชมจากจีซานสองต้นกับเมล็ดอินทผลัมเข้ามาสู่ประเทศไทยโดยสวัสดิภาพ เมื่อกลับถึงบ้านที่บ้านวัดแล้วสองสามวันต่อมาลูกไม้สองต้นและเมล็ดอินทผลัมก็ลงปลูกในดินเป็นที่เรียบร้อย.....

   ผู้ตั้งกระทู้รู้สึกเสียดายที่ขาดหลักฐานสำคัญไปสองอย่าง : -
อย่างแรกที่สำคัญอย่างยิ่งก็คือ...ภาพถ่ายของชวนชมต้นแม่ที่แคมป์ใกล้เมืองจีซาน คุณสุนันบอกว่าตอนนั้นไม่ได้คาดคิดว่าลูกไม้เล็กๆสองต้นที่นำเข้ามาปลูกไว้ดูเล่นนั้นจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราวของยักษ์ซาอุฯตัวสำคัญในเมืองไทยได้ ก็เลยไม่ได้คิดที่จะเก็บภาพต้นแม่นั้นไว้ ดังนั้น...ต้นแม่ของยักษ์บ้านวัดที่ประเทศซาอุฯจึงมีคุณสุนันกับเพื่อนคนงานในแคมป์เท่านั้นที่เคยเห็นและจำได้ สำหรับผู้ตั้งกระทู้นี้คงได้แต่จินตนาการรูปร่างของต้นแม่นั้นไปตามคำบอกเล่าของคุณสุนันเท่านั้น..อย่างที่สองก็คือ...วันเวลาแน่นอนที่คุณสุนันเดินทางเข้าไปทำงานและกลับจากประเทศซาอุฯ ความจริงก็คงไม่ยากหากว่าพาสปอร์ตเดินทางของคุณสุนันยังอยู่ เพราะในพาสปอร์ตย่อมจะต้องผ่านการประทับตราและระบุวันเดือนปีที่ผู้ถือพาสปอร์ตนั้นเดินทางเข้าออกประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่คุณสุนันค้นหาพาสปอร์ตที่เลิกใช้มายี่สิบกว่าปีแล้วไม่พบว่าเอาไปเก็บไว้ที่ไหน ดังนั้น... คงต้องอาศัยความทรงจำของคุณสุนันเองเป็นตัวช่วย เรื่อง ปีกับเดือนนั้นไม่พลาดแน่นอนเพราะมีเหตุการณ์สำคัญในชีวิตเกิดขึ้น คือคุณสุนันได้แต่งงานกับคุณมิ่งขวัญและจดทะเบียนสมรสกันเมื่อเดือนสิงหาคม ปีพ.ศ.๒๕๒๙ ปีเดียวกันกับที่เดินทางกลับจากประเทศซาอุฯ ส่วนวันที่เดินทางเข้าไปคงไม่สำคัญมากนัก ประมาณเอาว่าเป็นปี พ.ศ. ๒๕๒๘ ต้นปี และอยู่ทำงานประมาณ ๑ ปี กลับมาปี ๒๕๒๙ .... มีหลักฐานอีกชิ้นหนึ่งที่จะช่วยให้ระบุวันเดือนปีที่เดินทางกลับจากซาอุฯได้ใกล้เคียงที่สุดที่เห็นแล้วรู้สึกทึ่งปนขำว่าคุณสุนันอุตส่าห์เก็บรักษาไว้ได้ หลักฐานชิ้นนั้นก็คือ ...ใบรับประกันโทรทัศน์สีโซนี่- ไตรนิตรอน เครื่องที่คุณสุนันฝากโฟร์แมนซื้อมาให้จากกรุงริยาดก่อนที่จะเดินทางกลับเมืองไทยประมาณสามสัปดาห์ และกล่องใส่โทรทัศน์เครื่องนี้ก็เป็นกล่องใบเดียวกันที่ใส่ลูกชวนชมสองต้นนั้นกับเมล็ดอินทผลัมเข้ามาเมืองไทยพร้อมตัวคุณสุนันด้วย ในใบรับประกันนั้นระบุวันเดือนปีที่ซื้อโทรทัศน์เครื่องนั้นมาว่า 22 – 3 – 1986 ตรงกับวันที่ ๒๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๙ เมื่อบวกกับอีกสามสัปดาห์ซึ่งเป็นวันเดินทางกลับเมืองไทย ก็จะตกประมาณวันที่ ๑๒ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๙ เป็นช่วงเทศกาลสงกรานต์พอดี จากวันนั้นมาถึงวันนี้ ๒๑ ปีเศษแล้ว...


ดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่า คุณสุนันได้เดินทางกลับจากทำงานที่ประเทศซาอุดิอาระเบียเข้ามาประเทศไทยพร้อมด้วยลูกชวนชมสองต้นกับเมล็ดอินทผลัมจำนวนหนึ่ง โดยซุกมากับผ้าห่มขนสัตว์ในกล่องใส่โทรทัศน์สีที่ซื้อจากเมืองริยาด เมื่อช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีพ.ศ. ๒๕๒๙ หลังจากมาถึงเมืองไทยที่บ้านวัดได้สองสามวัน คุณแม่ของคุณสุนัน คือ โยมอินทร์ สนตาเถร ก็นำลูกชวนชมทั้งสองต้นลงปลูกใกล้กันในดินตรงหน้าบ้านนอกประตูบ้าน และแยกเมล็ดอินทผลัมไปปลูกไว้หน้าบ้านอีกด้านหนึ่ง ต่อมาไม่ถึงเดือนลูกชวนชมต้นหนึ่งก็เกิดเน่าและตายไปเหลือรอดอยู่เพียงต้นเดียวเท่านั้น........จำเนียรกาลผ่านไปอย่างรวดเร็ว.......ณ จังหวัดขอนแก่น ต้นเดือนมีนาคม ปีพ.ศ. ๒๕๔๐ .....คุณ มานิชย์ สิงหา เจ้าหน้าที่หน่วยพัศดุโครงการชลประทานขอนแก่น สำนักชลประทานที่ ๖ ขณะนั้นมีอายุ ๓๗ ปี มีอัธยาศัยนิยมชมชอบการปลูกเลี้ยงชวนชมสายพันธุ์ต่างๆ ในช่วงนั้นก็จะมีพวกตอไทย ไม้สีและฮอลแลนด์เป็นหลัก ชวนชมสายพันธุ์ยักษ์ซาอุฯนั้นเพิ่งจะเริ่มเป็นที่รู้จักยังไม่แพร่หลายในหมู่นักนิยมชวนชมเป็นวงกว้าง การเรียกชื่อก็จะเรียกรวมๆกันไปว่า ยักษ์ซาอุฯ ยังไม่แยกแยะเรียกเป็นยักษ์ต่างๆ ยักษ์ซาอุฯที่เข้ามาเมืองไทยรุ่นแรกๆ และมีขนาดใหญ่โตใกล้เคียงกันเช่น ยักษ์เกษตร ยักษ์คุณหญิงพหลฯ ยักษ์หนองแขม ยักษ์ลพบุรี ก็ยังไม่กระจายกันไปในหมู่ผู้นิยมชวนชม ดังนั้น.....เมื่อมีข่าวคราวของยักษ์ซาอุฯขนาดใหญ่ปรากฏขึ้นที่ไหนก็จะเป็นที่สนใจใฝ่หามาครอบครองของนักนิยมชวนชมยักษ์สายพันธุ์ใหม่เหล่านั้น...คุณมานิชย์ก็เป็นหนึ่งในจำนวนนักเลงชวนชมที่ชอบของใหม่ของใหญ่ในยุคนั้น มูลเหตุที่ทำให้คุณมานิชย์ได้พบกับยักษ์บ้านวัดต้นแม่นี้ ก็มาจากการที่เพื่อนรุ่นน้องของคุณมานิชย์คนหนึ่งซึ่งทำงานอยู่ที่สำนักงานธ.ก.ส. มาคุยให้คุณมานิชย์ฟังว่า ได้ซื้อลูกชวนชมยักษ์ซาอุฯต้นหนึ่งมาจากพ่อค้าชวนชมชาวโคราชคนหนึ่งชื่อ เสริม และพ่อค้าชวนชมที่ชื่อเสริมนั้นก็ซื้อลูกยักษ์ซาอุฯเหล่านั้นมาจากชาวบ้านแถวโคราช ลุงเสริมเล่าให้เขาฟังว่าต้นแม่ของลูกไม้เหล่านั้นใหญ่โตมโหฬารมาก เจ้าของเอาเข้ามาจากซาอุฯด้วยตัวเอง ปลูกลงดินไว้หน้าบ้านเป็นสิบปีแล้ว.... คุณมานิชย์ได้ฟังดังนั้นก็เกิดความสนใจทันที สอบถามเพื่อนรุ่นน้องคนนั้นว่าจะไปชมต้นแม่นั้นได้ที่ไหน ก็ได้รับคำตอบว่าเขาไม่รู้จักบ้านเจ้าของต้นแม่นั้น แต่รู้จักบ้านลุงเสริมพ่อค้าที่ขายชวนชมต้นลูกมาให้ และแนะนำหนทางที่คุณมานิชย์จะได้ไปพบโยมเสริมเพื่อให้โยมเสริมพาไปบ้านเจ้าของต้นแม่นั้น....ไม่กี่วันต่อมาคือวันที่ ๑๓ มีนาคม ๒๕๔๐ คุณมานิชย์ไปพบโยมเสริมที่บ้านวัด อ.คง จ.นครราชสีมา ตามคำแนะนำของเพื่อนรุ่นน้อง คุณมานิชย์ได้รับปากจะตอบแทนสินน้ำใจให้หากโยมเสริมจะช่วยสงเคราะห์พาไปบ้านเจ้าของยักษ์ต้นแม่นั้น โยมเสริมก็ยินดีพาไปโดยบอกว่าเคยเสนอขอซื้อยักษ์ต้นนี้จากเจ้าของแล้ว แต่เจ้าของยังไม่ตกลงที่จะขายให้ หากคุณมานิชย์ไปก็คงไม่ขายให้เช่นเดียวกันเพราะเจ้าของผูกพันกับไม้ต้นนี้มากเนื่องจากปลูกเลี้ยงดูแลมาเป็นสิบปีแล้ว แต่เมื่อคุณมานิชย์ยืนกรานที่จะให้โยมเสริมพาไปชมไม้ให้ได้ โยมเสริมก็พาไปชมตามความประสงค์ ไม่ไกลจากบ้านโยมเสริมเท่าไหร่ ก็ถึงบ้านเจ้าของยักษ์บ้านวัดต้นแม่ บ้านเลขที่ ๘๑ หมู่ ๙ บ้านวัด ต. เทพาลัย อ. คง จ. นครราชสีมา และแล้ว.....ต้นชวนชมยักษ์ที่ยืนตระหง่านอยู่หน้าบ้านต้นนั้น ทำให้คุณมานิชย์ถึงกับตะลึงในความใหญ่โตอลังการ.....
ภาพของยักษ์บ้านวัดต้นแม่ที่คุณมานิชย์แรกเห็น เป็นมุมเดียวกับภาพที่โพสไว้ข้างบน ปลายยอดของกิ่งสูงสุดที่ออกดอกอยู่หนึ่งช่อนั้น สูงพ้นจากขอบประตูบ้านที่ทำด้วยตาข่ายเหล็กกรอบเป็นท่อแป๊ปซึ่งสูงประมาณ ๑.๕๐ เมตร ขึ้นไปอีกไม่น้อยกว่า ๗๐ ๘๐ เซนติเมตร รวมความสูงจากพื้นดินถึงปลายยอดน่าจะไม่ต่ำกว่า ๒.๒๐ เมตร ยังไม่นับส่วนของโขดที่จมลงไปในดินตามกาลเวลาจนมองไม่เห็น เห็นแต่กิ่งที่ตั้งเป็นลำชะลูดขึ้นไป นั่นหมายความว่าที่เห็นในภาพนั้นยังไม่ใช่ความสูงเต็มที่ของไม้ต้นนี้ตามที่ควรจะเป็น กิ่งที่ใหญ่ที่สุดคือกิ่งด้านขวาใกล้กับประตูบ้านนั้น ใหญ่กว่าโคนขาของคุณมานิชย์ที่ใส่กางเกงผ้าร่มขาหลวมๆอีกมาก คุณมานิชย์ไปยืนเทียบชูมือจนสุดแล้ว ยังสูงไม่ถึงปลายยอดที่ออกดอกอยู่เลย ต่ำกว่าสัก ๒๐ ซ.ม. เห็นจะได้...ตอนที่นำต้นเล็กๆลงปลูกในดิน โยมอินทร์คุณแม่ของคุณสุนันคงจะไม่คาดคิดว่าในอนาคตข้างหน้าต้นชวนชมขนาดเท่าหัวแม่มือยาวคืบกว่านั้นจะใหญ่โตมโหฬารได้ขนาดเท่านี้ แกจึงปลูกไว้ไม่ห่างจากประตูบ้านมากนัก ผ่านไปเกือบ ๑๑ ปี ( เมย. ๒๕๒๙ มีค. ๒๕๔๐ ) ไม้นั้นก็โตขึ้นๆไม่ยอมหยุด จนกิ่งเริ่มจะเบียดชิดประตูบ้าน และกิ่งก็เริ่มเอนออกหนีประตูลู่เป็นแนวรวนไปหมดเห็นได้ชัด ซึงก็ยังคงเอนในลักษณะนี้มาจนทุกวันนี้....ยักษ์ซาอุฯต้นนี้มีลักษณะต่างไปจากต้นแม่ที่อยู่จีซานอย่างมากดังที่กล่าวไว้ข้างต้น และต้องนับว่าเป็นต้นแม่ของสายพันธุ์นี้ที่มีในประเทศไทยเรา เพราะถูกนำเข้ามาโดยคุณสุนันเป็นต้นแรก คุณมานิชย์ตระหนักถึงความสำคัญในข้อนี้ดี และขณะนั้นตามที่เห็นในภาพ ต้นไม้กำลังออกดอกและติดฝักจำนวนหนึ่ง ดอกดกเป็นช่อๆสีสวยถูกใจคุณมานิชย์มาก คุณมานิชย์จึงเริ่มเจรจาขอซื้อกับโยมอินทร์ซึ่งวันนั้นคุณสุนันไม่อยู่บ้านเพราะออกไปทำธุระสำคัญเกี่ยวกับคดีความเรื่องที่ดินอันจะต้องใช้เงินว่าจ้างทนายจำนวนหนึ่ง ดังนั้น...จากเรื่องที่ดูเหมือนจะยากก็กลายเป็นง่ายในวันนั้น ผิดคาดของโยมเสริมผู้พาไปโดยคิดว่าอย่างไรเสียโยมอินทร์ก็คงจะไม่ขายต้นแม่ให้ จะขายให้ก็แต่ต้นลูกที่แกเพาะเมล็ดจากฝักที่ดกมากติดมาตลอดปี และขายไปแล้วสองสามรุ่น โยมเสริมเองก็ได้ซื้อลูกไม้รุ่นแรกๆมา และยังมีคนแถวนั้นซื้อไปอีกสองสามราย...โยมอินทร์ได้ตัดสินใจเรียกราคาค่อนข้างสูงในความรู้สึกของแกแล้ว แต่ราคานั้นคุณมานิชย์พอใจและสู้ไหว การตกลงซื้อขายกันก็สำเร็จด้วยดี โดยคุณมานิชย์ตกลงว่าจะวางมัดจำไว้จำนวนหนึ่งก่อน และอีกแปดวันหลังจากนี้จะเอาคนมาขุดต้นยักษ์นี้ไปพร้อมกับจ่ายเงินที่เหลือ เพราะวันรุ่งขึ้นคุณมานิชย์จะต้องไปช่วยพรรคพวกออกร้านในงานบุปผชาติจังหวัดขอนแก่น ซึ่งจัดขึ้นที่ ต.ศิลา อ.เมือง จ. ขอนแก่น ระหว่างวันที่ ๑๔ ๒๐ มีนาคม พศ. ๒๕๔๐ งานบุปผชาติเลิกแล้วจึงจะมาขุดต้นไปได้ โยมอินทร์ก็ไม่ขัดข้องตกลงตามนั้น.....

   และวันกำหนดนัดหมายก็มาถึง.....วันศุกร์ที่ ๒๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๐ ๐๖.๐๐ น. .....เสร็จจากการไปช่วยพรรคพวกออกร้านในงานบุปผชาติซึ่งมีวันที่ ๒๐ มีนาคม เป็นวันสุดท้าย คุณมานิชย์ก็ขับรถกระบะบรรทุก NISSAN *** M td ที่เพิ่งซื้อมาใหม่ยังไม่ถึงสี่เดือน จากบ้านที่ อ. เมือง จ.ขอนแก่น พร้อมกับคุณสำรวยภริยาคุณมานิชย์ซึ่งนำกล้องถ่ายรูปไปเก็บภาพและคนงานอีกหนึ่งคน มุ่งตรงมายังบ้านวัด อ.คง จ.นครราชสีมา ไปรับโยมเสริมกับทีมงานขุดมืออาชีพของโยมเสริมอีกสองคนรวมทั้งหมดหกคน ไปยังบ้านโยมอินทร์เจ้าของยักษ์บ้านวัดต้นแม่ที่อยู่ไม่ไกลจากบ้านโยมเสริม วันนั้นคุณสุนันผู้นำเข้ายักษ์บ้านวัดก็ไม่อยู่บ้านอีก อยู่แต่โยมอินทร์เท่านั้น เมื่อทุกอย่างพร้อมก็จะได้ลงมือขุดกัน....แต่ก่อนที่จะขุดต้นขึ้นมานั้น ขอเก็บภาพตอนที่ต้นยังอยู่หน้าบ้านเจ้าของไว้เป็นที่ระลึกสักหน่อย เพราะต้นแม่นี้จะยืนตระหง่านเฝ้าหน้าบ้านหลังนี้เป็นวันสุดท้ายแล้ว.......ภาพแรกจะเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก โยมอินทร์ สนตาเถร ผู้ฟูมฟักประคบประหงมเลี้ยงดูแม่หนูน้อยจากจีซานมาเป็นเวลาร่วม ๑๑ ปี จนเป็นสาวเต็มตัวให้ลูกๆแก่ยายไว้ขายเป็น *** เยอะแยะ บัดนี้จะจากยายไปแล้ว...ปัจจุบันนี้โยมอินทร์มีอายุ ๘๐ ปีพอดี สุขภาพยังดี ยังปลูกต้นไม้รดน้ำต้นไม้ไหวอยู่ วันนั้นที่ไปเยี่ยมโยมสุนันที่ร้านอาหารท้ายบ้าน ไม่ได้เข้าไปเยี่ยมโยมอินทร์ที่บ้านเดิมที่เคยปลูกต้นแม่ยักษ์บ้านวัดไว้หน้าบ้าน เพราะเป็นเวลาเย็นมากแล้วจะต้องรีบกลับ จ.สมุทรปราการระยะทางไกลออกไปอีกเกือบ ๓๐๐ กม...


ภาพต่อมา....ซ้ายมือเป็น คุณมานิชย์ สิงหา ขวามือคือ โยมเสริม เทพนอก พ่อค้าชวนชมผู้เป็นตำนานไปแล้ว เพราะมีความเกี่ยวข้องกับไม้ชวนชมต้นแม่ดั้งเดิมที่นำเข้ามาจากประเทศซาอุดิอาระเบียทางโคราชทุกต้น ไม่ว่าจะเป็นยักษ์หนองแขม ยักษ์บ้านวัด ยักษ์ใบเล็กหรือราชีนีพันดอก และยักษ์ดำ โยมเสริมทำอาชีพซื้อขายต้นไม้มานานพร้อมๆกันกับที่ยักษ์ซาอุฯเหล่านั้นทยอยกันเดินทางเข้ามาสู่เมืองโคราชกับผู้ที่ไปทำงานในซาอุฯ แกจะตระเวณไปทั่วเมืองโคราชและจังหวัดอื่นใกล้เคียงเพื่อซื้อชวนชมมาขาย ซื้อต้นแม่ไม่ได้ก็ซื้อกิ่งจากต้นแม่มาชำ อย่างเช่นราชินีพันดอก โยมเสริมจะเป็นคนแรกๆที่เข้าถึงบ้านเจ้าของเดิมที่บ้านคอนเมือง ซื้อกิ่งจากต้นแม่มาชำไว้ได้หลายกิ่งและขายไปให้กับหลายคน ที่ยังอยู่ในวงการก็มี ที่อยู่นอกวงการชวนชมก็มี กิ่งชำสายพันธุ์ยักษ์ฯหลายกิ่งที่โยมแดงซื้อมาจากโยมเสริมและนำมาเสียบตอไทยไว้เมื่อเกือบสิบปีก่อน เพิ่งจะตอนลงมาจากตอไทยเมื่อเร็วๆนี้ไม่ค่อยมีปรากฏในท้องตลาดชวนชมสายพันธุ์ยักษ์ซาอุฯให้เห็น เช่นกิ่งชำจากต้นแม่ของยักษ์หนองแขม ยักษ์ดำต้นแม่นั้นแกเล่าให้ฟังว่าแกเป็นคนขายให้กับเสี่ยสุชัยไปเอง สำหรับยักษ์บ้านวัดนั้นโยมเสริมเข้าถึงบ้านเจ้าของก่อนคุณมานิชย์นานทีเดียว เมื่อแกซื้อต้นแม่ไม่ได้แกก็ซื้อต้นลูกไปขาย และไปขายให้กับเพื่อนรุ่นน้องของคุณมานิชย์เข้าจนเรื่องมาลงเอยที่คุณมานิชย์ได้ต้นแม่ไปครอง.......
                                                           
                                                                                อีกสักภาพ ......ภาพนี้มาดเข้มมากไม่โพสไม่ได้...


   ภาพสุดท้ายที่ถ่ายก่อนจะลงมือขุดกัน น่าเสียดายที่ไม่ได้เก็บภาพตอนขุดต้นขึ้นมา อยากเห็นว่าโขดที่จมดินมานานเป็นสิบปีจะโตขนาดไหน ภาพอื่นๆที่ถ่ายหลังจากนั้นก็ไม่มีภาพที่เห็นโขดเต็มๆทั้งหมดเลยสักภาพ แต่หลังจากสอบถามคุณมานิชย์เรื่องขนาดโขดแล้ว คุณมานิชย์บอกว่าโขดไม่ค่อยโตนัก คงเป็นเพราะดินหน้าบ้านโยมอินทร์ที่ปลูกยักษ์บ้านวัดต้นแม่นี้เป็นดินเหนียวที่แข็งมาก ส่วนที่อยู่ในดินจึงไม่ค่อยโต ความใหญ่จึงขึ้นไปอยู่ที่กิ่งทั้งหมดแทน....


เมื่อขุดขึ้นมาโดยรองโขดไว้ด้วยกระสอบและยกใส่รถกระบะแล้ว คุณมานิชย์ก็รีบขับกลับไปขอนแก่นทันที ถึงบ้านที่ขอนแก่นตอนเย็น ไปตามคนมาช่วยกันเอาต้นลงใส่ท่อกลมขนาดใหญ่ตั้งไว้หน้าบ้าน กลบไว้ด้วยดินปนทรายชั่วคราวก่อน วันรุ่งขึ้นกลับจากทำงานตอนเย็น ก็มาบันทึกภาพต้นไม้ที่ตั้งอยู่หน้าบ้านเก็บไว้เป็นที่ระลึกอีกหนึ่งชุด.....ในภาพเป็นหน้าบ้านพักของคุณมานิชย์ ที่ในเมือง อ. เมือง จ. ขอนแก่น ถ่ายเมื่อวันเสาร์ที่ ๒๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๐ เมื่อ ๑๐ ปี ๒ เดือนกว่ามาแล้ว


         ความแน่นอนคือความไม่แน่นอน.... ตอนที่ได้ต้นแม่ยักษ์บ้านวัดมาใหม่ๆคุณมานิชย์คิดจะเก็บไว้เชยชมนานๆให้สมกับความอลังการของไม้พันธุ์ยักษ์ที่ได้มา แต่หลังจากได้มาเพียงสองวันก็มีทั้งผู้นิยมชวนชมทั้งพ่อค้าชวนชมสวนใหญ่ๆทั้งใกล้และไกล ที่อยู่ไกลแม้อยู่ถึงกทม.หรือนนทบุรี ได้ทราบข่าวถึงความใหญ่โตของชวนชมยักษ์ต้นนี้ก็ยังดั้นด้นไปขอชมยักษ์ต้นแม่ของคุณมานิชย์ถึงที่บ้าน หลายคนเริ่มเจรจาขอซื้อจากคุณมานิชย์ ถึงตอนนี้คุณมานิชย์ก็ชักจะแกว่งๆ เพราะเริ่มวิตกกังวลเรื่องความปลอดภัยของต้นไม้ที่ตั้งอยู่นอกตัวบ้าน ต้องให้คนในบ้านช่วยกันเป็นหูเป็นตาคอยเฝ้าไว้เกือบทั้งวัน กลางคืนยังต้องตื่นลงมาดูก็มี ประจวบกับยักษ์อีกต้นหนึ่งของผู้นิยมชวนชมซึ่งรู้จักกันกับคุณมานิชย์ คือ อจ. สุรชัย เพชรแสน ที่ได้มาจากชัยภุมิไม่นานเริ่มมีอาการเน่าที่โขดเพราะความไม่ชำนาญในการขุดขึ้นมาจากดิน แต่ก็รักษาอาการเน่าจนทุเลาเกือบหายดีแล้ว คุณมานิชย์เกรงว่าไม้ที่ได้มาจะเกิดเคราะห์หามยามร้ายเน่าไปเสียก็จะแย่ จึงตัดสินใจที่จะขาย แต่จะขายให้ได้ราคาจุใจที่สุด จึงต้องวางท่าทีเหมือนไม่อยากขายต่อผู้มาติดต่อ ตอนนี้เองที่โยมหยู ( พจน์ อุดมสิทธิพัฒนา ) เจ้าของสวนชวนชมศรีสุนทรที่แปดริ้ว ซึ่งช่วงนั้นขึ้นล่องขายไม้สีอยู่ทางแถบโคราช ขอนแก่นและจังหวัดอื่นๆทางภาคอิสาณ และรู้จักกับคุณมานิชย์ดีก็ได้ทราบข่าวและเจรจาขอซื้อไม้ต้นนี้จากคุณมานิชย์ทางโทรศัพท์จากแปดริ้ว คุณมานิชย์จึงได้ตัดสินใจที่จะขายโดยเปิดราคากับโยมหยูเป็นคนแรก โยมหยูต่อรองนิดหน่อยและตอบตกลงที่จะซื้อกันโดยที่คุณมานิชย์ให้เวลาหนึ่งสัปดาห์ให้โยมหยูนำเงินมาชำระและรับไม้ไปได้ แต่ไม่ได้วางมัดจำกันไว้เพราะเป็นการเจรจาซื้อขายกันทางโทรศัพท์ แต่หลังจากหนึ่งสัปดาห์ผ่านไปโยมหยูบังเอิญติดธุระสำคัญไม่สามารถเดินทางขึ้นไปจ.ขอนแก่นตามที่นัดกันได้ คุณมานิชย์จึงทอดระยะเวลาให้อีกหนึ่งสัปดาห์ต่อมา แต่โยมหยูก็ไม่สามารถขึ้นไปจ.ขอนแก่นได้อีกเพราะติดพันธุระสำคัญปลีกตัวไปไม่ได้ และคงเป็นความชะล่าใจว่าคงไม่มีใครมาซื้อตัดหน้า คุณมานิชย์คงยังไม่ขายให้ใครเพราะคุยกันไว้แล้ว จึงไม่ได้รีบที่จะขึ้นไปจ.ขอนแก่นหาคุณมานิชย์ นี่จึงเป็นความพลิกผันให้ต้องพบกับความผิดหวัง เพราะคุณมานิชย์นั้นคิดว่าโยมหยูทอดธุระไม่ขึ้นมาเอาไม้เสียแล้ว ประจวบกับการที่ถูกรุกอย่างหนักจากบุคคลสองท่านที่มาด้วยกันเพื่อเจรจาขอซื้อไม้ ท่านแรกคือ อาจารย์ สุรชัย เพชรแสน อจ.สอนที่ร.ร.แห่งหนึ่งใน อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น ......อีกท่านหนึ่งที่มาสังเกตการณ์เป็นเพื่อนอจ.สุระและชมไม้ด้วย คือ พันเอกพิเศษ ณรงค์ ชาติทองคำ หรือที่เรียกกันในหมู่ผู้รู้จักกันว่า ท่านเสธ.ณรงค์ ....อจ. สุรชัย ได้เรียกร้องให้คุณมานิชย์เสนอราคามาตามความพอใจ คุณมานิชย์จึงเรียกราคาไปสูงกว่าที่เรียกจากโยมหยู อจ. สุรชัย ต่อรองลงมาเล็กน้อยและก็ตกลงกันได้ เกือบสัปดาห์ต่อมายักษ์บ้านวัดต้นแม่ก็ถูกย้ายออกจากความดูแลของคุณมานิชย์ไปอยู่ในความดูแลของอจ.สุรชัยที่ อ.น้ำพอง รวมเวลาที่อยู่กับคุณมานิชย์ได้ไม่ถึงสามสัปดาห์ ถ้านับตั้งแต่วันที่ ๒๑ มีนาคม ก็จะไปตกอยู่ราวๆวันที่ ๘๑๐ เมษายน ๒๕๔๐ แต่ปรากฏว่าช่วงเวลาสั้นๆที่ต้นไม้อยู่กับคุณมานิชย์ดังกล่าว กลับมีภาพถ่ายและคำบอกเล่าที่ค่อนข้างแม่นยำให้ใช้ป็นหลักฐานได้มากที่สุด.....ที่หน้าบ้านพักอีกมุมหนึ่ง มุมนี้จะเห็นหน้าตาคุณมานิชย์ใสๆชัดเจน หล่อเหลาเอาการมิใช่น้อย....ภาพที่ถ่ายเมื่อปี ๒๕๔๐ ชุดนี้ ถ่ายด้วยกล้องฟีล์มรุ่นเก่า คุณมานิชย์เก็บฟิล์มเก่าไว้ บางภาพก็นำฟิล์มมาอัดใหม่ จึงมีภาพที่ดูใสๆเหมือนถ่ายใหม่ บางภาพก็ดูเก่าเพราะสแกนมาจากรูปเก่า....

   ยักษ์บ้านวัดต้นแม่มาอยู่กับ อจ. สุรชัยได้ประมาณสองเดือนให้อจ.สุรชัยเก็บฝักแก่ที่ปริแยกแล้วได้ประมาณ ๒๐ คู่ไว้เพาะเมล็ดขยายพันธุ์ก็มีอันต้องย้ายออกจากบ้านของ อจ. สุรชัยไป เพราะท่านเสธ. ณรงค์ ที่ไปกับอจ.สุรชัยครั้งที่อจ.สุรชัยไปขอซื้อยักษ์ต้นแม่ฯนี้จากคุณมานิชย์เกิดถูกใจและอยากได้ จึงขอซื้อต่อจากอจ.สุรชัยไปพร้อมกับยักษ์อีกต้นหนึ่งที่อจ.สุรชัยได้มาจาก อ. บ้านแท่น จังหวัดชัยภูมิ ที่เห็นในรูปต้นไกล.... มีขนาดกิ่งใหญ่โตพอๆกับยักษ์บ้านวัดต้นแม่นี้ทีเดียว แต่กิ่งน้อยกว่า....... ที่ปรากฏอยู่ในรูปนี้เป็นบ้านของ อจ.สุรชัย ที่ อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น ถ่าย่ไว้ก่อนที่ยักษ์ทั้งสองต้นในรูปจะถูกท่านเสธ.ฯซื้อต่อและนำไปไว้ที่บ้านพักทหารของท่านเสธ.ฯที่ค่ายแห่งหนึ่งในจ.นครราชสีมา อยู่มาได้ประมาณหนึ่งเดือน ท่านเสธฯก็ย้ายที่ประจำการจากค่ายที่โคราชไปปฏิบัติราชการทหารที่อื่น เป็นการไม่สะดวกที่จะนำไม้ใหญ่ขนาดนั้นทั้งสองต้นติดตามไปด้วย ท่านเสธ.ฯจึงตัดสินใจย้ายชวนชมทั้งสองต้นไปตั้งไว้ที่สวนชวนชมตรีมุข จ.สิงห์บุรี โดยฝากให้คุณสายชล ( ตี๋ ตรีมุข ) เจ้าของสวนซึ่งมีความสนิทสนมกันและเป็นผู้ที่ท่านเสธ.ฯไว้วางใจให้ดูแลยักษ์ทั้งสองต้นให้ท่าน โดยมีผลประโยชน์ที่เกิดจากการจำหน่ายลูกไม้ของยักษ์ต้นแม่นี้ร่วมกัน.......ภาพถ่ายที่บ้านอจ.สุรชัย อ.น้ำพอง จ. ขอนแก่น..


.......สถานที่ในภาพนี้ คือที่สวนตรีมุข จ. สิงห์บุรี เป็นภาพที่คุณศรีราชาดีไลท์โพสไว้ในกระทู้ชื่อ มารำลึกความหลังกันเถอะ เมื่อวันที่ ๒๔ พ.ศ.๒๕๔๙ ให้เห็นความเชื่อมโยงกันที่ยักษ์บ้านวัดต้นแม่และยักษ์ฯอีกต้นหนึ่งที่ท่านเสธ.ณรงค์ย้ายมาจากบ้านอาจารย์สุรชัย ที่ อ. น้ำพอง จ.ขอนแก่น ได้มาตั้งอยู่ที่สวนตรีมุขแล้วทั้งสองต้น.....แต่ต่อมายักษ์อีกต้นหนึ่งที่มาจากบ้านอจ.สุรชัยที่ขอนแก่นด้วยกัน ก็เน่าตายไปต้นหนึ่ง คงเหลือแต่ยักษ์บ้านวัดต้นแม่ยืนเป็นยักษ์ใหญ่ที่สวนตรีมุข เรื่องของยักษ์ต้นที่เน่าตายไปนั้นจะมากล่าวเพิ่มเติม


   เมื่อยักษ์บ้านวัดต้นแม่ได้มาตั้งอยู่ที่สวนตรีมุข จ.สิงห์บุรี ของคุณสายชล ( ตี๋ ตรีมุข ) ก็ได้ชื่อว่าได้มาอยู่กับมือทำไม้อาชีพที่หวังผลด้านประสิทธิภาพในการขยายพันธุ์และการตลาดได้สูง อีกทั้งยักษ์บ้านวัดต้นแม่นั้นก็มีคุณสมบัติทางสายพันธุ์ที่ดีอย่างหนึ่งก็คือ ดอกดกและติดฝักได้ง่ายมาก จึงทำให้ยักษ์บ้านวัดต้นแม่นี้สร้างรายได้จากการขายลูกไม้ให้สวนตรีมุขอย่างเป็นกอบเป็นกำ....ยักษ์บ้านวัดต้นแม่นี้เมื่อตกถึงมือใครก็ให้ฝักเป็นของแถมเสมอ สำหรับโยมอินทร์ผู้ประคบประหงมฟูมฟักเลี้ยงดูมาเกือบ ๑๑ ปีนั้นไม่ต้องพูดถึงว่าได้เก็บฝักมาเพาะเมล็ดจำหน่ายแล้วกี่รุ่น คุณมานิชย์มีโชคที่จะได้ฝักน้อยกว่าใคร ทั้งๆที่ตอนนั้นมีฝักติดต้นมาหลายสิบคู่ คือช่วงเวลาที่อยู่กับคุณมานิชย์ประมาณสามสัปดาห์นั้น มีฝักแก่ให้คุณมานิชย์เก็บได้เพียง ๕ คู่ อจ.สุรชัยเก็บฝักได้ประมาณ ๒๐ คู่ ฝักที่เหลือจึงไปตกอยู่กับท่านเสธ.ฯซึ่งก็มอบหมายให้คุณสายชล ( ตี๋ ตรีมุข ) นำไปเพาะขยายพันธุ์ได้จำนวนหนึ่งซึ่งไม่น้อย ช่วงปีแรกที่ได้ต้นมานั้นคุณสายชลยังไม่ได้จำหน่ายลูกไม้ แต่มุ่งไปบำรุงต้นแม่ให้สมบูรณ์เต็มที่เพื่อสร้างฝักและลูกไม้ จากนั้นก็ขุนลูกไม้ให้โตเพื่อเตรียมรองรับความต้องการของตลาด และมีแผนการประชาสัมพันธุ์ยักษ์ตัวใหม่นี้ให้เป็นที่รู้จักแพร่หลาย ด้วยการนำไม้ไปแสดงที่งานเกษตรแฟร์ช่วงต้นปีถัดมา และในงาน พรรณไม้งามอร่ามสวนหลวง ร. ๙ ช่วงปลายปี คือตามภาพถ่ายนี้ที่ได้มาจากโยมแดงในวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๑ ซึ่งสร้างความตื่นเต้นฮือฮาต่อผู้ที่ได้พบเห็นยักษ์ใหญ่ต้นนี้ที่คุณสายชลได้เรียกชื่อเสียใหม่ว่ายักษ์สิงห์บุรี เป็นอย่างมาก ชวนชมขนาดใหญ่จากซาอุฯที่ชื่อว่ายักษ์สิงห์บุรีเริ่มเป็นที่โจทย์ขานกันในหมู่ผู้นิยมชวนชมอย่างรวดเร็วในเรื่องความใหญ่โตของต้นแม่และความดกของดอกที่ออกเป็นช่อสะพรั่งไปทั้งต้น และก็เริ่มมีการถามหาลูกไม้ของต้นแม่ต้นนี้ ก็เข้าทางคุณสายชลซึ่งเตรียมลูกไม้ไว้รออยู่แล้ว ช่วงปี ๒๕๔๑ ๒๕๔๒ จึงเป็นปีทองของยักษ์ต้นนี้ รายได้จากการจำหน่ายลูกไม้ที่คุณสายชลแบ่งให้ท่านเสธ.ฯมากจนเป็นที่พอใจ คือเกินกว่าต้นทุนที่ลงไปกับการซื้อต้นแม่ไปพอสมควร ภายหลังท่านเสธ.ฯจึงได้ยกต้นแม่นั้นให้เป็นกรรมสิทธิ์ของคุณสายชลไป......


         เมื่อคุณสายชล ( ตี๋ ตรีมุข ) ได้เปลี่ยนชื่อยักษ์บ้านวัดต้นแม่ไปเป็นยักษ์สิงห์บุรีตามสถานที่อยู่ใหม่ของยักษ์ต้นแม่นี้แล้ว ก็มีผู้เรียกชื่อใหม่กันเป็นที่ติดปาก โดยเฉพาะผู้นิยมชวนชมทางภาคกลางที่ไม่ทราบประวัติเดิมของยักษ์ต้นนี้มาก่อน ชื่อเดิมคือ ยักษ์บ้านวัด ก็ค่อยๆเลือนหายไป คงมีแต่คนทางบ้านวัดและคนทางขอนแก่นที่รู้จักไม้ต้นนี้ยังคงเรียกขานกันในชื่อยักษ์บ้านวัดอยู่ แต่ก็น้อยคนเต็มที...ดังนั้น...จากนี้ไปผู้ตั้งกระทู้จะขอเรียกยักษ์ต้นแม่ต้นนี้ว่ายักษ์บ้านวัด ( สิงห์บุรี ) เพื่อความเข้าใจร่วมกัน ที่ต้องเรียกคำว่ายักษ์บ้านวัดขึ้นหน้าก่อน ก็เพื่อเป็นการรำลึกถึงต้นแม่ที่เข้ามาตั้งรกรากในประเทศไทยที่บ้านวัดโดยคุณสุนัน สนตาเถร คนบ้านวัด อ.คง จ.นครราชสีมา เป็นผู้นำเข้ามา และต้นอ่อนของยักษ์นั้นได้กินดินของบ้านวัดมาเป็นเวลาเกือบสิบเอ็ดปีจนเติบใหญ่ การเรียกชื่อว่ายักษ์สิงห์บุรีนั้น ดังที่ได้กล่าวไว้ตั้งแต่ต้นกระทู้แล้วว่าชวนให้ผู้ตั้งกระทู้นึกไปว่าคงจะเป็นไม้ที่หน้าตาเหมือนๆกันกับพวกยักษ์อื่นๆที่มีชื่อตามจังหวัดในภาคกลางไม่มีอะไรน่าสนใจ แต่เมื่อเรียกชื่อมีคำว่ายักษ์บ้านวัด ก็จะทำให้ฟังดูมีมนต์ขลังและชวนให้ติดตามถึงรากเง่าถิ่นที่มาของไม้นั้น เป็นการให้เกียรติแก่ชาวบ้านวัดผู้ที่นำยักษ์ต้นแม่นี้เข้ามาเมืองไทย แต่นี่ก็เป็นเพียงความเห็นส่วนตัวเท่านั้น....ภาพอีกมุมหนึ่งฝั่งตรงข้ามกับข้างบน ถ่ายในงาน พรรณไม้งามอร่ามสวนหลวง ร. ๙ ปีเดียวกัน.........

   .......สรรพสิ่งย่อมมีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และเสื่อมไปเป็นธรรมดา มีความเจริญก็ย่อมมีความเสื่อมเป็นวัฏฏจักร และวัฏฏจักรช่วงเสื่อมที่ส่งผลกระทบต่อคนไทยอย่างมากก็คือ วัฏฏจักรช่วงเสื่อมของเศรษฐกิจในระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๓๘ - ๒๕๔๓ ก่อนหน้าปี ๒๕๓๘ สอง- สามปี เป็นช่วงที่เรียกกันว่า ยุคเศรษฐกิจเติบโตแบบฟองสบู่ เป็นยุคที่มีเงินลงทุนจากต่างประเทศสะพัดเข้ามามากที่สุด ทำให้คนมีเงินจับจ่ายใช้สอยกันอย่างฟุ่มเฟือยฟุ้งเฟ้อ แต่ความฟุ้งเฟ้อนั้นก็ตั้งอยู่ได้ไม่นาน ต่อมา...ตั้งแต่ปี ๒๕๓๘ เป็นช่วงที่เรียกกันว่า ยุคฟองสบู่แตก หรือ ยุค IMF “ เป็นยุคแห่งความยากเข็ญของคนไทยทั้งประเทศ ความยากเข็ญนั้นค่อยๆทวีความรุนแรงขึ้นตามลำดับ มารุนแรงเต็มที่ราวๆปี ๒๕๔๒ ๒๕๔๓ เป็นยุคข้าวยากหมากแพงอย่างแท้จริง เมื่อเงินทองจะจับจ่ายใช้สอยฝืดเคืองกำลังซื้อน้อยลง สิ่งที่ไม่ใช่ปัจจัยในการดำรงชีวิตเช่นไม้ดอกไม้ประดับต่างๆก็มีผู้จ่ายเพื่อซื้อน้อยลง วงการชวนชมทรงตัวอยู่เกือบจะนิ่งๆไปพักหนึ่ง เพิ่งจะมาฟื้นตัวเมื่อเร็วๆนี้เอง ยุคทองของยักษ์บ้านวัด ( สิงห์บุรี ) ก็เริ่มเสื่อมถอยลงเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๓ เป็นต้นมา ท่านเสธ.ณรงค์เล่าให้ฟังว่า ช่วงนั้นลูกไม้ออกมามากแต่ไม่ค่อยมีคนซื้อ ลดราคาลงมามากแล้วก็ยังขายไม่ค่อยได้ คุณสายชลจึงหยุดทำการขยายพันธุ์ยักษ์บ้านวัด ( สิงห์บุรี ) อีกต่อไป และต่อมาชื่อของสวนตรีมุขก็ค่อยๆเลือนหายไปจากวงการชวนชมโดยที่ท่านเสธ.เองก็ไม่ทราบข่าวคราวของคุณสายชล ว่าไปทำกิจการอะไรอย่างอื่นที่ไหน มาทราบข่าวครั้งสุดท้ายจากโยมหยูว่ายักษ์บ้านวัด ( สิงห์บุรี ) ต้นแม่ ได้เปลี่ยนมือจากความครอบครองของคุณสายชล ( ตี๋ ตรีมุข ) ไปสู่ความครอบครองของนักการเมืองระดับชาติ คือ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เมื่อประมาณต้นปี พ.ศ. ๒๕๔๙ โดยมีสมาชิกในเว็บบอร์ดของเราคนหนึ่งเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการเปลี่ยนผู้ครอบครองครั้งนี้ แต่จะเกี่ยวข้องระดับใดในลักษณะไหนนั้นผู้ตั้งกระทู้ไม่ทราบในรายละเอียดที่แน่นอน ซึ่งหลายท่านในวงการอาจจะทราบดีกว่า ทราบแต่เพียงว่าที่ตั้งสุดท้ายของยักษ์บ้านวัด ( สิงห์บุรี ) ต้นแม่นั้น สถิตถาวรอยู่ที่บ้านคุณหญิงฯ อาจจะตราบชั่วอายุขัยของต้นแม่นี้เลยก็ได้ โอกาสที่เราท่านทั้งหลายผู้ไม่รู้จักกับคุณหญิงฯเป็นการส่วนตัวจะได้ชมต้นแม่ตัวจริงคงยากเหลือเกิน....ภาพนี้คงเป็นภาพล่าสุดของยักษ์บ้านวัด ( สิงห์บุรี ) ต้นแม่ ที่มีปรากฏอยู่ในตอนนี้ ซึ่งเป็นภาพที่คุณวีระพล ได้โพสไว้ในเว็บบอร์ดคนรักโซโค ในกระทู้ชื่อ สวยๆกับโซโคเพชรบ้านนารุ่นแรก เมื่อวันที่ ๑๖ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๙ จะเห็นได้ว่าต้นใหญ่กว่าเดิมที่ถ่ายภาพไว้เมื่อปี ๒๕๔๑ ค่อนข้างมาก ยอดกิ่งเริ่มเป็นพุ่มใหญ่ กิ่งเริ่มเอนออกทำองศาเฉียงมากขึ้น กิ่งใหญ่ทางขวามือที่เคยเอนหนีประตูบ้านโยมอินทร์ที่บ้านวัด ก็ยังคงเอนอยู่ในลักษณะนั้นเป็นสัญลักษณ์พิเศษ ให้ผู้ที่ทราบเรื่องราวครั้งก่อนที่ยักษ์ต้นนี้ยืนตระหง่านเฝ้าหน้าบ้านโยมหญิงชราชื่ออินทร์ สนตาเถร บ้านเลขที่ ๘๑ หมู่ ๙ บ้านวัด ต.เทพาลัย อ.คง จ.นครราชสีมา ได้รำลึกถึงอดีตย้อนหลังนับจากวันนี้ไปเป็นเวลากว่า ๒๑ ปีแล้ว ที่ยักษ์ต้นนี้ใช้ชีวิตอยู่ในประเทศไทย ผลิตลูกหลานออกมาเป็นจำนวนมหาศาล สร้างรายได้ให้กับผู้คนไม่ใช่น้อยที่ผลัดเปลี่ยนกันเป็นเจ้าของ สร้างสุนทรียรสทางสายตาแก่ผู้พบเห็นนับไม่ถ้วน ให้ความสุขสดชื่นความหวังในพัฒนาการที่ดีที่งดงามของไม้แก่ผู้ที่ได้ลูกไม้ไปเลี้ยงดูด้วยความรักเป็นจำนวนเกินคณนารวมทั้งผู้ตั้งกระทู้นี้ด้วย....อนึ่ง.....ลูกไม้รุ่นแรก ( F1 ) ต้นหนึ่งของยักษ์บ้านวัด ( สิงห์บุรี ) ต้นแม่นี้เอง ที่โยมอินทร์ได้ขยายพันธุ์และจำหน่ายจ่ายแจกออกไป มีลักษณะบางอย่างที่ต่างไปจากต้นแม่และมีความสวยงาม ได้รับการตั้งชื่อใหม่โดยผู้เป็นเจ้าของลูกไม้นั้นว่า เพชรเมืองคง และถือว่าลูกไม้ของยักษ์บ้านวัดต้นแม่ต้นนี้ที่ได้รับการตั้งชื่อใหม่เป็นต้นแม่ของไม้สายพันธุ์ชื่อนี้....เมื่อต้นแม่เพชรเมืองคงสมบูรณ์และเปล่งประกายความงามเต็มที่ ท่านผู้เป็นเจ้าของได้นำไปประกวดในงานแสดงไม้ดอกไม้ประดับหลายงาน ได้รับโล่ห์และถ้วยรางวัลชนะเลิศมากมาย สร้างชื่อเสียงให้แก่เพชรเมืองคงต้นแม่และเจ้าของให้เลื่องลือขจรเป็นที่รู้จักไปไกล ลูกไม้เพชรเมืองคงหรือกิ่งตอนจากต้นแม่ก็เป็นที่ปราถนาของผู้ที่นิยมชวนชมสายพันธุ์ยักษ์ฯที่มีความสวยงามอย่างมากมาจนถึงทุกวันนี้....ดังนั้น....ผู้ตั้งกระทู้นี้จึงรู้สึกดีทุกครั้งที่ได้เอ่ยเรียกชื่อยักษ์ต้นแม่ผู้สร้างตำนานด้วยเรื่องราวอันน่าสนใจของตนเองว่ายักษ์บ้านวัด “ .


   เรื่องราวความเป็นมาของยักษ์บ้านวัด ( สิงห์บุรี ) ต้นแม่ ได้เล่ามาละเอียดพอสมควรแล้ว ดูจะยืดยาวมากเกินไปด้วยซ้ำ จึงขอเปลี่ยนบรรยากาศมาเป็นการกล่าวถึงลักษณะทางสายพันธุ์ของต้นแม่ฯพร้อมทั้งแสดงภาพประกอบให้เห็นอย่างละเอียดชัดเจนเท่าที่จะสามารถทำได้ เพื่อเอื้อประโยชน์สำหรับผู้ที่เพิ่งเริ่มทำความรู้จักกับยักษ์บ้านวัด ( สิงห์บุรี ) บางทีการที่ได้รับทราบเรื่องราวความเป็นมาและเห็นภาพประกอบอย่างละเอียดจะเป็นการจุดประกายความรักความชอบที่จะหาไม้สายพันธุ์นี้มาปลูกเลี้ยงบ้าง.
ส่วนแรกที่จะขอยกมากล่าวก็คือกิ่งของต้นแม่ฯ ซึ่งเป็นรุกขาวัยวะที่ใหญ่ที่สุดเห็นได้ชัดเจนที่สุด เหมาะที่จะใช้เป็นที่สังเกตความเป็นสายพันธุ์ยักษ์บ้านวัดได้ เพราะมีลักษณะที่เด่นแตกต่างจากยักษ์ซาอุฯสายพันธุ์อื่น กล่าวคือ กิ่งของต้นแม่ฯจะเป็นลำใหญ่ตั้งชะลูดสูงขึ้นไปด้วยองศาที่ค่อนข้างชันเกือบตั้งฉากกับพื้น ช่วงปลายกิ่งจะตั้งตรงไม่ทิ้งตัวออกทางขวางแผ่ออกรอบต้นเหมือนอย่างยักษ์หนองแขมหรือเพชรหน้าวัง ไม่ค่อยมีกิ่งแขนงเล็กๆเป็นฝอยละเอียดได้มากเท่ากับกิ่งของราชินีพันดอก กิ่งแขนงจะไม่ค่อยแตกออกจากกลางกิ่งใหญ่ แต่จะแตกใหม่ที่โขดหรือโคนต้น กิ่งใหญ่ตั้งเป็นลำขึ้นไปสักระยะหนึ่งจึงจะแตกออกเป็นกิ่งย่อยซึ่งไม่มากนัก ผิวกิ่งค่อนข้างเกลี้ยงเกลากว่ายักษ์ฯสายพันธุ์อื่นไม่ค่อยเป็นตะปุ่มตะป่ำ กิ่งมีสีเขียวสดใสสวยงาม แต่ในกรณีที่ไม้ต้องอดน้ำบ่อยๆ หรือขาดธาตุอาหารในดินเนื่องจากไม่ได้เปลี่ยนดินเปลี่ยนกระถางเป็นเวลานาน ไม้นั้นก็จะสร้างเยื่อขาวๆหุ้มผิวไว้บางๆ ทำให้เห็นเป็นสีเขียวอมเทาจางๆ.......ชมภาพขยายให้เห็นผิวของกิ่งชัดๆ


   ลองมาชมกิ่งของต้นลูกยักษ์บ้านวัด ( สิงห์บุรี ) F1 บ้าง ลูกไม้ชั้นนี้ส่วนใหญ่จะถ่ายทอดลักษณะทางสายพันธุ์ของต้นแม่ไว้ได้เกือบทั้งหมด ที่ต่างไปจากต้นแม่ก็คือ การที่เลี้ยงไว้ในกระถางตั้งแต่ยังเล็กจะทำให้มีโขดใหญ่โตกว่าต้นแม่ แต่กิ่งยังคงมีสีเขียวใสเหมือนต้นแม่ ผิวกิ่งเกลี้ยงเกลามีรอยตะปุ่มตะป่ำน้อยกว่ายักษ์ฯสายพันธุ์อื่นๆ และไม่ค่อยมีกิ่งแขนงแตกออกมาจากกลางกิ่งใหญ่ แต่บางต้นในชั้นนี้ก็เริ่มมีเหมือนกัน.....


อย่างเช่นต้นนี้ จะเห็นว่าที่โคนกิ่งใหญ่เริ่มมีกิ่งแขนงเล็กๆแตกขึ้นมาให้เห็นบ้าง แต่ผิวของกิ่งก็ยังเหมือนแม่อยู่.....


   ชมฟอร์มต้นลูก F1 ทั้งต้น กิ่งยังพุ่งเป็นลำตรงและตั้งชันเกือบฉากกับพื้นแบบเดียวกับต้นแม่...


   ชมลูกยักษ์บ้านวัด ( สิงห์บุรี ) F1 อีกต้นหนึ่ง ฟอร์มกิ่งเหมือนต้นแม่มาก..ลูกยักษ์บ้านวัด ( สิงห์บุรี ) สองต้นนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของไม้หลายต้นในบ้านหลังนี้ ซึ่งอยู่ที่หมู่บ้านโพธิบัลลังก์ อ.เมือง จ.ขอนแก่น หลายต้นจะเป็นลูก F1 ของยักษ์บ้านวัด อายุเกินสิบปีขึ้นไป อยู่ในกระถางดินเผาปั้นลายมังกรนูนขนาดปากกระถางไม่ต่ำกว่าหนึ่งเมตร โขดโตจนคับกระถางทุกต้น แสดงว่าขาดการเปลี่ยนดินเปลี่ยนกระถางมาหลายปี ถ้าหมั่นเปลี่ยนโขดจะใหญ่กว่านี้มาก......


ชมฟอร์มแชมป์ของ เพชรเมืองคงต้นแม่ ดูบ้าง จะเห็นโขดที่ใหญ่นูนสูงขึ้นมา กิ่งก็ใหญ่เหมือนยักษ์บ้านวัดต้นแม่ แต่องศาของกิ่งจะเฉียงกว่า ผิวกิ่งเรียบสวยที่โคนไม่ค่อยมีกิ่งแขนงเล็กๆแตกออกมาเหมือนกัน ดอกดกมากทีเดียว..ภาพนี้เก็บมาจากเว็บอื่น รู้สึกจะเป็นเว็บ siam adenium หรือเปล่าไม่ค่อยแน่ใจ ท่านใดทราบกรุณาบอกด้วย..


เมื่อกล่าวถึงเรื่องกิ่งและฟอร์มต้น ก็มีภาพของลูกยักษ์บ้านวัด ( สิงห์บุรี ) อีกจำนวนหนึ่งซึ่งมีเรื่องราวที่น่าสนใจควรนำมากล่าวไว้ในช่วงนี้ด้วย.....ตอนที่ได้ยักษ์บ้านวัด ( สิงห์บุรี ) ต้นแม่มาใหม่ๆ คุณมานิชย์ก็ได้เล็มกิ่งเล็กๆที่เกะกะออกมาหลายกิ่ง และเสียบไว้กับตอไทยบ้างตอฮอลแลนด์บ้างหลายตอ จนบัดนี้ทั้งตอที่เสียบกิ่งแม่ไว้ และกิ่งที่ตอนลงมาจากตอก็มีขนาดใหญ่พอสมควร และจะได้นำภาพกิ่งจากต้นแม่บางส่วนมาแสดงให้ชมภายหลัง.....หลังจากที่คุณมานิชย์ได้ขายยักษ์บ้านวัด ( สิงห์บุรี ) ต้นแม่ให้อจ.สุรชัยไปแล้ว คุณมานิชย์ก็ยังไม่มีลูกไม้ในมือ มีแต่กิ่งเสียบที่ยังอ่อนอยู่ ฝักที่เก็บไว้ได้ห้าคู่ก็ยังไม่ได้นำเมล็ดมาเพาะก็มีผู้มาขอซื้อเมล็ดไปเสียแล้ว และยังมีผู้มาถามหาซื้อลูกของยักษ์บ้านวัดจากคุณมานิชย์ๆจึงคิดที่จะหาลูกยักษ์บ้านวัดมาขายให้ผู้ที่สนใจเหล่านั้น เพราะยักษ์สายพันธุ์ใหม่นี้ได้เป็นที่นิยมชมชอบและเสาะหามาเลี้ยงของผู้นิยมชวนชมชาวขอนแก่นอย่างรวดเร็ว แต่จำนวนลูกไม้นั้นยังไม่มากพอรองรับความต้องการได้ ผู้ที่มีลูกไม้มากที่สุดคงไม่พ้นโยมอินทร์ซึ่งตอนแรกก็แจกจ่ายแบ่งให้ชาวบ้านใกล้เรือนเคียงไป ต่อมามีผู้มาขอซื้อเช่นโยมเสริมเป็นต้น แกก็เริ่มขายไปจนไม่พอขาย ต้องเก็บไว้ขยายพันธุ์ไม่กี่ต้น และที่น่าเสียดายก็คือ โยมอินทร์ไม่ได้เสียบหรือตอนหรือชำกิ่งจากต้นแม่ไว้เลย โยมเสริมและทหารอีกคนหนึ่งที่อยู่บ้านวัดก็มารับไม้จากโยมอินทร์และขายไปจนเหลือน้อยแล้ว ชาวบ้านแถวบ้านวัดและทางเมืองคงก็มีมาซื้อหรือแบ่งปันไปเลี้ยงบ้าง คุณมานิชย์เดินทางไปบ้านวัดเพื่อหาซื้อลูกยักษ์บ้านวัดมาขาย ก็ได้จากโยมอินทร์ส่วนหนึ่งซึ่งยังเล็กมากและไม่กี่ต้น ได้จากโยมเสริมยิ่งน้อยกว่าแต่ก็ได้ไม้สายพันธุ์อื่นจากโยมเสริมมาแทนเสมอ เพราะโยมเสริมหาไม้เก่ง ....เมื่อคุณมานิชย์เดินทางไปหาซื้อลูกยักษ์บ้านวัดเป็นครั้งที่สาม ในวันหนึ่ง..คุณมานิชย์ก็ไปหาโยมเสริมตามเคยเพื่อหาซื้อลูกไม้ทั้งลูกยักษ์บ้านวัดและไม้สายพันธุ์อื่นกลับขอนแก่น..โยมเสริมแนะนำให้คุณมานิชย์ลองไปถามซื้อที่ข้างบ้านของแกดูเห็นมีปลูกอยู่ต้นหนึ่ง เมื่อคุณมานิชย์ไปถามขอซื้อ เจ้าของลูกยักษ์บ้านวัดต้นนั้นซึ่งเป็นผู้หญิงก็ไม่ขายให้ แต่บอกกับคุณมานิชย์ว่าโยมอินทร์เคยแบ่งลูกไม้รุ่นแรกๆให้ลูกชายอีกคนที่อยู่ต่างจังหวัดไปเลี้ยงเมื่อหลายปีก่อน แต่ไม่รู้ว่าอยู่จังหวัดไหนใน ให้คุณมานิชย์ลองไปสืบดูเอาเอง.....ครั้งต่อมา....ระหว่างที่คุณมานิชย์ไปนั่งรับประทานอาหารที่ร้านอาหารของคุณสุนันเจ้าของเดิมยักษ์บ้านวัดต้นแม่ คุณมานิชย์นั้นรู้ว่าคุณสุนันเป็นลูกชายโยมอินทร์คนที่ไปซาอุฯกลับมา แต่คุณสุนันไม่รู้ว่าคุณมานิชย์เป็นผู้ซื้อยักษ์ต้นแม่ไปจากบ้านแก เพราะที่คุณมานิชย์ไปที่บ้านแม่ทั้งสองหนแกไม่อยู่บ้าน จึงไม่ได้พบกับคุณมานิชย์ และคุณมานิชย์ก็ไม่ได้แนะนำตัวกับคุณสุนันด้วย ทำให้คุณสุนันเข้าใจว่าคุณมานิชย์เป็นผู้สนใจมาหาซื้อลูกยักษ์บ้านวัดคนหนึ่งเท่านั้น ในตอนหนึ่งของการสนทนา คุณมานิชย์ได้สอบถามคุณสุนันถึงเรื่องลูกไม้จากต้นแม่ ว่ายังมีใครได้ไปจากโยมอินทร์ที่คุณสุนันพอทราบอีกไหม คุณสุนันก็บอกว่าเมื่อสามสี่ปีก่อนน้องชายคุณสุนันที่อยู่ อ. ประโคนชัย จ.บุรีรัมย์ ได้มาเยี่ยมบ้านและขอแบ่งลูกไม้เล็กๆขนาดเท่าหัวแม่มือยาวประมาณคืบจำนวนหนึ่งไปจากโยมอินทร์ผู้เป็นแม่ ถ้าลูกยักษ์บ้านวัดเหล่านั้นยังอยู่ป่านนี้ก็คงจะมีขนาดใหญ่พอสมควรแล้ว เพราะเป็นลูกรุ่นแรกๆที่ได้จากต้นแม่ทีเดียว คุณมานิชย์สอบถามเส้นทางไปหาน้องชายคุณสุนันพอคร่าวๆแล้ว พอวันต่อมาก็รีบขับรถไปหาน้องชายคุณสุนันที่ประโคนชัยทันทีด้วยความใจร้อน เมื่อหาน้องชายคุณสุนันจนพบก็ได้ทราบว่าแกได้ลูกไม้จากแม่มาทั้งหมดสิบห้าต้น เก็บไว้ต้นเดียว ที่เหลือขายไปหมดแล้ว คุณมานิชย์นั้นไม่สิ้นความพยายาม หลังจากสอบถามน้องชายคุณสุนันว่าจำได้หรือไม่ว่าขายให้ใครไปบ้างจะไปตามขอซื้อ ปรากฏว่าแกจำได้หมดทุกต้นที่ขายไป จากนั้นคุณมานิชย์ก็ใช้เวลามากมายในการตระเวนหาผู้ที่ซื้อลูกไม้ชุดนี้ไป ขอซื้อมาได้สิบสองต้นจากสิบห้าต้น ( ตอนนี้คุณมานิชย์เล่าให้ฟังอย่างออกรสชาติ เพราะกว่าจะได้ถึงสิบสองต้นต้องขึ้นล่องขอนแก่น ประโคนชัย หลายเที่ยวทีเดียว และเจ้าของแทบทุกต้นจะพูดภาษาเขมร ต้องหาล่ามไปแปลเจรจาขอซื้อ เล่นเอาเหนื่อยไม่ใช่น้อย ) มีเพียงสามต้นที่ตามพบแล้วแต่ซื้อไม่ได้ เพราะผู้ที่ซื้อไปเป็นเจ้าของปั๊มน้ำมัน ทั้งสามต้นใส่กระถางใบใหญ่ตั้งประดับไว้ที่ปั๊มฯ มีขนาดใหญ่กว่าสิบสองต้นนั้นมาก เพราะเอาใจใส่ดูแลดี ไม่เหมือนกลุ่มที่คุณมานิชย์ตามมาได้ ส่วนใหญ่จะเลี้ยงแบบปล่อยไปตามยถากรรม แต่ก็ดีไปอย่างคือทำให้ราคาที่ซื้อออกมาไม่สูง ต่างจากราคาที่คุณมานิชย์ขายไปมาก.....

กลุ่มลูกยักษ์บ้านวัด F1 อายุประมาณสี่ปีตามภาพถ่าย ( ๒๕๓๖ - ๒๕๔๐ ) ที่คุณมานิชย์ไปตามซื้อมาจาก อ. ประโคนชัย แถวหน้าที่เห็นต้นเล็กๆเท่าหัวแม่มือเป็นลูกไม้ที่ได้มาจากโยมอินทร์หลังจากขายต้นแม่ไปแล้วไม่เกินสองเดือน....

ที่นำเรื่องและรูปภาพของลูกยักษ์บ้านวัดชุดนี้มาเสนอในช่วงนี้ เพราะท่านผู้อ่านจะได้เห็นฟอร์มต้นของลูกไม้ F1 ที่เกือบจะเป็นลูกรุ่นแรกของต้นแม่ก็ว่าได้ บางต้นที่ฟอร์มต่างไปจากต้นแม่ก็มี หลายต้นที่ขายไปนั้น คุณมานิชย์จำได้ว่าใครเป็นผู้ซื้อไป ผู้ที่ซื้อไปในยุคนั้นน่าสนใจไม่น้อย เพราะเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ในวงการชวนชมหลายท่านซึ่งเป็นที่รู้จักักันดี..ต้นนี้ฟอร์มสวยที่สุดในกลุ่ม มีกิ่งเจ็ดกิ่งลำตรงดี คุณมานิชย์เรียกชื่อว่า ต้นมงกุฎ ขายให้คุณปรีชา เจ้าของสวนชวนชมที่อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี ราคาขอสงวนไว้ดังกล่าวข้างต้นแล้ว...


   ต้นนี้ใหญ่กว่าทุกต้นในกลุ่ม โขดมีลักษณะรีไม่กลม คุณมานิชย์เรียกต้นนี้ว่า เรือโบ๊ต แกว่าหุ่นเหมือนเรือ..ต้นนี้ขายให้เสี่ยสุชัย ซึ่งคุณมานิชย์บอกว่าเป็นขาใหญ่ชวนชมเมืองขอนแก่น เสี่ยสุชัยเคยมีราชินีพันดอกกิ่งต้นแม่อยู่ในความครอบครองหนึ่งกิ่ง....เสี่ยสุชัยซื้อลูกยักษ์บ้านวัดจากคุณมานิชย์ไปหลายต้นด้วยมูลค่าที่สูงเอาการในยุคนั้น....

ในภาพเป็นคุณมานิชย์ยืนอยู่ในสวนข้างบ้านพัก กลุ่มต้นแถวหน้าซึ่งรวมทั้งต้น เรือโบ๊ต เป็นกลุ่มที่เสี่ยสุชัยซื้อไป....


   กลุ่มนี้ท่านเสธ. ณรงค์ ( พ.อ.พิเศษ ณรงค์ ชาติทองคำ ) ซื้อไปก่อนหน้าที่ท่านเสธ.ฯ จะไปซื้อต้นแม่จากอจ.สุรชัยไม่กี่วัน..ต้นที่เหลือก็มีผู้ซื้อไปจนหมด จำนวนสาม- สี่ต้นในสิบสองต้นชุดนี้ก็ได้ไปอยู่ที่บ้านหลังหนึ่งในหมู่บ้านโพธิบัลลังก์ จนโตขึ้นมามีขนาดมหึมาคับกระถางมังกรปั้นนูนปากกว้างเป็นเมตร ที่ได้โพสให้ชมไปแล้วข้างบนนั่นเอง....

   ต้นนี้ฟอร์มแปลกแตกต่างไปจากต้นแม่มาก คือเป็นลำสูงชะลูดขึ้นไปและมีกิ่งน้อย ที่โคนไม่มีลักษณะเป็นโขด ดูเผินๆเข้าใจว่าเป็นกิ่งตอน ต้นนี้คุณมานิชย์ขายให้เสี่ยสุชัยไปในกลุ่มต้นเรือโบ๊ต ถ้าต้นนี้ยังอยู่ถึงปัจจุบันคือสิบปีให้หลังจากภาพถ่ายนี้ ไม่ทราบว่าจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร....

   ลำดับต่อไปก็เป็นเรื่องของใบ ....ช่วงเวลาที่คุณมานิชย์ไปขุดต้นแม่มาจากบ้านวัดนั้น เป็นช่วงที่ต้นแม่ทิ้งใบหมดและกำลังออกดอกติดฝักมากมายดังนั้น...จึงนำภาพใบของกิ่งต้นแม่ของยักษ์บ้านวัดที่เสียบไว้กับตอบ้าง ที่ตอนลงใส่กระถางแล้วบ้างมาแสดงแทน...ลักษณะใบของยักษ์บ้านวัด ( สิงห์บุรี ) ใบจะยาวหัวท้ายเรียว ส่วนโคนใบจะแคบกว่าส่วนปลาย ที่ปลายใบจะมีติ่งแหลมเล็กๆ ใบที่ใหญ่เต็มที่อาจจะยาวถึง ๑๘ ซ.ม. แต่ส่วนใหญ่จะเฉลี่ยอยู่ระหว่าง ๑๓ ๑๕ ซ.ม. ส่วนที่กว้างที่สุดของใบกว้างประมาณ ๕ - ๖ ซ.ม. ขอบใบจะห่อเข้ามาเล็กน้อย ทำให้เห็นหลังใบมีสีอ่อนกว่าหน้าใบตัดเป็นขอบจนดูเหมือนขอบใบจะเป็นสีขาว ความจริงหน้าใบจะมีสีเดียวตลอดทั้งหน้าไม่มีสีอื่นมาตัดขอบ ยกเว้นแต่สีก้านใบที่อ่อนกว่าเห็นได้ชัด และสีกระดูกใบหรือเส้นใบที่อ่อนกว่าสีหน้าใบเล็กน้อย สีอ่อนๆที่เห็นตามขอบใบคือสีของหลังใบหรือใต้ใบที่ม้วนขึ้นมา.....ภาพนี้เป็นใบของกิ่งตอนจากกิ่งต้นแม่ที่โยมแดงได้มาจากคุณมานิชย์


 ภาพนี้เป็นใบจากกิ่งตอนต้นแม่ที่โยมหยูได้มาจากท่านเสธ.ณรงค์ ขอบใบห่อขึ้นมาเห็นสีหลังใบที่ม้วนขึ้นมาตัดกันชัดเจน....


                                                                               ชมใบเป็นช่อรวมๆกันไป ทั้งใบแก่ใบอ่อน.


   ใบของยักษ์บ้านวัด ( สิงห์บุรี ) จะมีขนทั้งสองด้าน ด้านหน้าใบขนจะละเอียดจนเวลาจับสัมผัสแทบจะไม่รู้สึก คล้ายกับสัมผัสใบข่อยแต่สากมือน้อยกว่าใบข่อยมาก ด้านหลังใบหรือใต้ใบจะมีขนมากกว่าเล็กน้อย สัมผัสนุ่มมือเหมือนจับผ้าสักหลาดขนเกรียนๆ


ใบนี้เป็นของกิ่งตอนจากกิ่งต้นแม่ที่โยมแดงได้มาจากคุณมานิชย์ ใบจากต้นแม่เดียวกันแต่กิ่งต่างขนาดกัน คือกิ่งตอนจากโยมหยูกิ่งมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางโคนประมาณสองนิ้วครึ่ง แต่ใบที่แสดงนี้มาจากกิ่งตอนขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางโคนห้านิ้วเศษ......


ใบจากต้นลูก F1 ของยักษ์บ้านวัด ( สิงห์บุรี ) อายุประมาณ ๑๔ ปี ที่หมู่บ้านโพธิบัลลังก์ ขอนแก่น


ใบของต้นลูก F1 จากกิ่งต้นแม่ของคุณมานิชย์อายุประมาณห้าปี..น่าสังเกตว่าใบของลูกต้นแม่ชั้นต้นจะเหมือนใบของต้นแม่มาก.....


มาถึงเรื่องสำคัญคือเรื่องดอกของยักษ์บ้านวัด ( สิงห์บุรี ) ต้นแม่ ......วันที่คุณมานิชย์พร้อมทีมงานไปขุดต้นแม่ที่บ้านวัดนั้น คุณสำรวยภริยาซึ่งไปด้วยและนำกล้องไปเก็บภาพเหตุการณ์วันนั้น ก็เก็บภาพได้รายละเอียดไว้เป็นหลักฐานพอสมควร แต่สิ่งที่ขาดไปก็คือ การเจาะถ่ายเฉพาะส่วนต่างๆของต้นแม่เช่น ใบ ดอก และฝักของต้นแม่ในระยะใกล้ ส่วนใหญ่จะถ่ายเต็มต้นกับใครต่อใครที่ไปยืนใกล้ต้น มีเพียงภาพเดียวที่ตั้งใจถ่ายช่อดอกของต้นแม่ในระยะใกล้ แต่ปรับโฟกัสของภาพไปตกคมชัดที่กิ่งด้านหลังช่อดอกแทน ยังพอเห็นรูปร่างลักษณะและสีของดอกได้รางๆ ถึงอย่างไรดอกที่กระจัดกระจายอยู่ข้างหลังสองสามดอกก็ยังพอเห็นได้ชัดดี และยังได้เห็นส่วนหนึ่งของประตูบ้านด้วย ถ่ายในวันสุดท้ายก่อนที่จะถูกขุดขึ้นจากดินไปอยู่บ้านคุณมานิชย์ที่ขอนแก่น เห็นว่ามีความสำคัญจึงนำมาโพสไว้....
   ตอนที่ต้นแม่ยักษ์บ้านวัด ( สิงห์บุรี ) อยู่ที่บ้านคุณมานิชย์นั้น มีทั้งดอกและฝักติดต้นอยู่ไม่น้อย ภาพนี้จะเห็นดอกและฝักตัดกับท้องฟ้าชัดเจน พอที่จะให้แยกสีสันและลักษณะของดอกและฝักได้บ้าง และมุมกล้องก็สวยดี ถึงแม้จะไม่เห็นรายละเอียดชัดเจนมากเท่าที่ควร ถึงอย่างไรก็ยังเป็นภาพดอกและฝักของต้นแม่ ถือว่าเป็นภาพประวัติต้นแม่ตอนที่อยู่ที่บ้านพักของคุณมานิชย์เพียงภาพเดียวที่เห็นดอกและฝักชัดกว่าทุกภาพ ที่นำมาโพสก็เพราะมุ่งความสำคัญในแง่นี้มากกว่า ส่วนภาพดอกที่เห็นรายละเอียดชัดเจนนั้นคงต้องอาศัยภาพดอกจากกิ่งตอนจากกิ่งต้นแม่ที่ถ่ายในปัจจุบันมาแสดงแทน....


   ดอกยักษ์บ้านวัด ( สิงห์บุรี ) กิ่งตอนจากต้นแม่ที่สวนโยมหยูๆแกชอบเรียกว่ายักษ์สิงห์บุรีมากกว่ายักษ์บ้านวัด..ชอบดอกในภาพนี้มาก เพราะแสดงให้เห็นความดกของดอกจำนวนหลายสิบดอก ที่เกาะกลุ่มเบียดกันแน่นจนเป็นช่อกลม มองดูคล้ายลูกตะกร้อ แต่เป็นลูกตะกร้อสีชมพู เพราะได้เห็นดอกช่อนี้จึงเป็นเหตุให้สืบหาประวัติต้นแม่อย่างจริงจัง....

   ต้นเดียวกัน ถ่ายในระยะห่างออกมา เห็นลูกตะกร้อสีชมพูสดหลายลูก......


คราวนี้ให้เห็นใกล้ๆ ยังคงเป็นดอกจากกิ่งตอนต้นแม่ของโยมหยู.....


    ลักษณะของดอกยักษ์บ้านวัด ( สิงห์บุรี ) ต้นแม่ : --โดยปกติทั่วไปดอกยักษ์บ้านวัด มีกลีบดอกห้ากลีบ แต่ละกลีบจะแยกกันไม่เหลื่อมทับกันอย่างราชินีพันดอก ขอบกลีบดอกจะมีจีบเล็กๆเหมือนผิวกระดาษย่น ปลายกลีบเป็นจะงอยแหลมคล้ายจะงอยปากนก ตรงกลางดอกเป็นกรวยลึกลงไป มีระยางค์เกสรหลายเส้นบิดตัวเป็นเกลียวราวกับฟั่นเชือกโผล่พ้นปากกรวยขึ้นมาเล็กน้อย ผนังกรวยมีสีเหลืองตัดกับเส้นสีชมพู ดอกมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๕ ๖ ซ.ม. ที่ขอบกลีบดอกเป็นสีชมพูเฉดเดียวกับราชินีพันดอก จากขอบเข้ามาสีจะเริ่มจางลงทีละน้อย ทำให้ดูเป็นสีชมพูสดกลมกลืนกันไปทั้งดอก ( ชมภาพเปรียบเทียบข้างหน้า ) ดอกมักจะออกเป็นช่อตามปลายกิ่ง จะมีออกกลางกิ่งบ้างก็ห่างๆ ( ชมภาพในความคิดเห็นที่ ๑ ) .....


   ชมดอกเดี่ยวๆอีกสักดอกเพื่อเปรียบเทียบ เป็นดอกจากกิ่งตอนต้นแม่กิ่งเดียวกัน....


ชมภาพดอกสามสายพันธุ์ คือ เพชรบ้านนา ราชินีพันดอก และยักษ์บ้านวัด ( สิงห์บุรี ) เพื่อเปรียบเทียบให้เห็นอย่างชัดเจน ที่น่าสังเกตคือ ลักษณะของระยางค์เกสรทั้งสามสามพันธุ์ไม่ค่อยจะเหมือนกัน
หมายเลข 1 คือดอกเพชรบ้านนากิ่งไม่แม่

หมายเลข 2 คือดอกราชินีพันดอกกิ่งตอนจากกิ่งต้นแม่

หมายเลข 3 คือดอกยักษ์บ้านวัด ( สิงห์บุรี ) กิ่งตอนจากกิ่งต้นแม่......


                            ถ้ายังเห็นระยางค์เกสรของแต่ละดอกไม่ชัดก็ลองแยกออกมาชมทีละดอกใกล้ๆชัดๆ ยักษ์บ้านวัดเห็นชัดๆไปแล้ว ดอกนี้เป็นเพชรบ้านนา.....

                                                                               ดอกนี้เป็นราชินีพันดอก (ไม่ต้องบอกก็รู้.... )

                                                                                      ความลึกของกรวยดอกยักษ์บ้านวัด ( สิงห์บุรี ).....

    ชมดอกเดี่ยวจากต้นลูกบ้าง...


ดอกคู่จากต้นลูก...
ต้นลูกต้นนี้ได้มาจากโยมอนงค์ สวนคลองสิบ ปทุมธานี ที่สวนโยมอนงค์มีลูกยักษ์บ้านวัดที่สวนหลายต้นรวมทั้งกิ่งตอนจากต้นแม่ด้วย แกชอบเรียกว่า ยักษ์สิงห์บุรี “ .......

                                      

รุกขาวัยวะสุดท้ายที่จะกล่าวถึงก็คือฝัก....ยักษ์บ้านวัด ( สิงห์บุรี ) ต้นแม่ เป็นชวนชมสายพันธุ์ที่ดอกดกติดฝักง่าย เป็นลักษณะที่เด่นทางสายพันธุ์ซึ่งถ่ายทอดมายังลูกหลานของตนเป็นส่วนใหญ่ด้วย...ในภาพเป็นฝักที่ติดบนกิ่งตอนจากกิ่งต้นแม่ขนาดโคนกิ่งเพียงสองนิ้วครึ่ง ติดฝักถึงห้าข้างแต่ถูกฝนกระหน่ำอย่างหนักทุกวันติดต่อกันเกือบเดือนจึงเน่าเสียหาย เหลือเพียงข้างเดียวที่เก็บเมล็ดได้ ....ลักษณะของฝักจะเหมือนเขาควายก็ตอนฝักอ่อน พอฝักโตขึ้นรูปร่างจะเปลี่ยนไปเหมือนตะเกียบคู่ยาวๆมากกว่า เพราะฝักจะไม่อวบใหญ่เหมือนอย่างฝักของยักษ์ญี่ปุ่น ความยาวฝักประมาณ ๙ - ๑๑ นิ้ว อาจจะยาวได้มากกว่าที่ระบุมานี้ก็ได้ ถ้าฝักสมบูรณ์เต็มที่จะได้เมล็ดข้างละไม่ต่ำกว่า ๖๐ เมล็ด เมล็ดก็จะมีลักษณะและขนาดเท่าๆกับเมล็ดยักษ์ซาอุฯทั่วๆไป..........


ได้เล่าเรื่องราวและแสดงลักษณะทางสายพันธุ์ของยักษ์บ้านวัด ( สิงห์บุรี ) ไปมากพอสมควรแล้ว ขอเปลี่ยนบรรยากาศมาเป็นทำความรู้จักกับคุณมานิชย์บ้าง.....

คุณมานิชย์ สิงหา ในปัจจุบันอายุ ๔๗ ปีแล้ว ( ปีเดียวกันกับผู้ตั้งกระทู้ ) ถ่ายเมื่อไปขอนแก่นเป็นครั้งที่สี่ วันที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๕๐ ที่บ้านโยมของแก ได้พบตัวจริงเสียงจริงคุณมานิชย์เป็นครั้งแรกหลังจากที่ติดต่อกันทางโทรศัพท์มาหลายเดือน ความหล่อเหลาเอาการไม่ได้เปลี่ยนไปจากภาพถ่ายเมื่อสิบปีก่อนเลย จะเปลี่ยนไปก็แต่ทรงผมเท่านั้น แกพยายามเอาลงมาปรกๆข้างหน้าไว้หน่อยนึง ดูท่าทางจะกังวลกับเรื่องนี้มิใช่น้อย.......


ภาพนี้ถ่ายที่สวนริมทางรถไฟของโยมแดง ( วรรณี เมฆประสาน ) ....ไม่ทราบว่าใครไปสะกิดถูกต่อมฮาของแกเข้าเลยว่าเสียงอหาย แต่ปกติแกเป็นคนอารมณ์ดีอยู่แล้ว พูดเก่งเป็นต่อยหอย เพราะเป็นนักจัดรายการวิทยุคลื่นชุมชน ที่คลื่น FM. 106.25 mhz. ขอนแก่น เป็นรายการความรู้เกี่ยวกับการเกษตรและเพลงแนวหมอแคน แกให้หมายเลขติดต่อที่สถานีไว้ด้วย เผื่อใครอยู่ขอนแก่นอยากโทรไปคุยตอนแกออกอากาศ ระหว่าง ๑๒.๐๐ -๑๓.๐๐ น.
หมายเลขที่สถานีวิทยุคลื่นชุมชน.... 043 - 324279
หมายเลขโทรศัพท์มือถือคุณมานิชย์.. 081 - 9743347


ภาพนี้เป็นการจัดวางท่าย้อนอดีตตอนถ่ายคู่กับต้นแม่หน้าบ้านเมื่อสิบปีก่อน ( คคห.ที่ ๒๒ ) แต่ต้นที่เห็นในภาพเป็นกิ่งจากยักษ์บ้านวัดต้นแม่เสียบไว้กับตอไทย เสียบไว้นานเกินสิบปีจนยอดที่เสียบกลืนตอไทยหายไปหมด ทุกวันนี้ยอดที่เสียบออกรากมาหากินเองได้แล้ว คุณมานิชย์แกปล่อยให้เทวดาเลี้ยงเสียนาน เพิ่งจะมาฟิตเปลี่ยนดินเปลี่ยนกระถางเอาตอนที่จะโพสท่าถ่ายรูปนี่แหละ ไม่งั้นกิ่งเสียบน่าจะใหญ่กว่านี้มาก ถึงกระนั้นก็ยังเป็นกิ่งแม่ที่ใหญ่ที่สุดในจำนวนเกือบยี่สิบกิ่งที่แกมีอยู่ตอนนี้ ต้องนับว่ากิ่งนี้เป็นกิ่งแม่ของยักษ์บ้านวัดกิ่งแรกที่ตัดจากต้นแม่และใหญ่ที่สุดเท่าที่มีปรากฏอยู่ในตอนนี้ ที่สำคัญรูปทรงของกิ่งแม่กิ่งนี้ช่างเหมือนกับต้นแม่ครั้งอดีตมาก ลองย้อนกลับไปดูภาพนั้นก็จะเห็นจริง เสียดายที่แกไม่หมั่นเปลี่ยนดินเปลี่ยนกระถาง กิ่งก็เลยไม่แข็งแรงพุ่งเป็นลำตรงเหมือนต้นแม่ อ่อนย้วยไปมาจนต้องใช้มือช่วยประคอง ผิวกิ่งก็เป็นสีเขียวอมเทาฟ้องถึงความอดๆอยากๆ หลังจากเปลี่ยนดินเปลี่ยนกระถางแล้วกิ่งคงจะค่อยๆตั้งเป็นลำได้ดีขึ้น......

ปัจจุบันคุณมานิชย์ให้ความสำคัญกับกิ่งนี้มาก จัดการเปลี่ยนดินและใส่ลงในปลอกท่อขนาด ๘๐ ซ.ม รองใต้พื้นล่างด้วยอิฐบล็อก.....อนาคตกิ่งนี้ถ้าใหญ่แล้วเหมือนต้นแม่ คงเป็นการชดเชยความรู้สึกว่าเหมือนต้นแม่ยังอยู่กับแกก็ได้



                                     ภาพกิ่งจากต้นแม่กิ่งแรกที่อยู่ในกระถางใบเก่า กิ่งอ่อนระทวยจนคุณมานิชย์ต้องเอาไม้ค้ำไว้ไม่ให้ล้ม.....

ลืมโพสภาพใบของกิ่งแม่กิ่งนี้ไปเมื่อตอนกล่าวถึงเรื่องใบ เอามาโพสเสียตอนนี้ ใบเป็นใบเก่าดูเฉาๆไม่ค่อยจะสมบูรณ์นักเพราะเพิ่งเปลี่ยนดินได้สี่ - ห้าวัน เห็นรถกระบะสีขาวด้านหลังด้วย เป็นรถกระบะนิสสันบิ๊กเอ็มคันที่ขับไปบรรทุกต้นแม่มาจากบ้านวัดเมื่อสิบปีก่อน ทุกวันนี้แกยังใช้รถคันนี้อยู่....

    บทสรุป ..กระทู้นี้ได้แบ่งเนื้อหาหลักออกเป็นสองส่วน ( นอกนั้นเป็นอารัมภบทและน้ำท่วมทุ่งผักบุ้งโหรงเหรง )... ส่วนแรกเป็นการเล่าเรื่องราวความเป็นมาของยักษ์บ้านวัด ( สิงห์บุรี ) ตั้งแต่ยังอยู่ที่ประเทศซาอุดิอาระเบียให้ละเอียดเท่าที่จะสามารถทำได้ พร้อมทั้งแสดงหลักฐานประกอบเท่าที่มี ให้ตรงกับความจริงตามข้อมูลที่ได้รับ ซึ่งทั้งหมดมาจากคำบอกเล่าของบุคคล หลักฐานสนับสนุนคำบอกเล่าของคุณสุนัน สนตาเถร เพียงสองชิ้นก็คือ ใบรับประกันการซื้อโทรทัศน์สีจากประเทศซาอุดิอาระเบียที่ระบุวันเดือนปีที่ซื้อไว้ก่อนเดินทางกลับประเทศไทยประมาณสามสัปดาห์ และภาพถ่ายคุณสุนันช่วงที่อยู่ประเทศซาอุฯ นอกเหนือจากนั้นจะตรงกับความเป็นจริงเพียงไรก็ขึ้นอยู่กับกำลังความทรงจำของคุณสุนันแล้ว สำหรับผู้ตั้งกระทู้ย่อมเชื่อว่าคุณสุนันเล่าเรื่องราวให้ฟังด้วยความสุจริตใจเป็นที่ตั้งอย่างแน่นอน.....ที่สำคัญ....มีบางประเด็นที่จะต้องอาศัยความรู้ทางวิชาการจากสมาชิกท่านอื่นเข้ามาร่วมวิเคราะห์ก็คือ เรื่องลักษณะของต้นแม่ที่ขึ้นอยู่ใกล้แคมป์คนงานในประเทศซาอุดิอาระเบีย ตามคำบอกเล่าของคุณสุนันในความคิดเห็นที่ ว่ามีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใดที่ต้นแม่จะมีลักษณะอย่างที่ว่า และจะอธิบายการเปลี่ยนแปลงลักษณะทางกายภาพของต้นลูกที่ย้ายมาปลูกลงกระถางโดยใช้ดินเป็นเครื่องปลูกด้วยหลักวิชาการอย่างไรนอกเหนือจากการสันนิษฐานของผู้ตั้งกระทู้ที่ได้วงเล็บไว้ในความเห็นนั้น ตรงนี้ที่ขอเชิญท่านสมาชิกได้เข้ามาร่วมกันวิเคราะห์แสดงเหตุผลในแง่มุมต่างๆตามอัธยาศัย.....
ในส่วนของคุณมานิชย์นั้น นับว่าได้หลักฐานข้อมูลมากที่สุดจากภาพถ่ายที่คุณสำรวยภริยาคุณมานิชย์ได้บันทึกไว้ในวันที่ไปขุดต้นแม่ที่บ้านวัดและวันที่ย้ายต้นแม่มาอยู่หน้าบ้านคุณมานิชย์ แถมคุณมานิชย์ยังเก็บภาพต้นแม่ตอนที่ตั้งอยู่ที่บ้านอจ.สุรชัย ที่อ.น้ำพอง ไว้ได้ด้วย อีกทั้งคำบอกเล่าจากความทรงจำของทั้งสองสามีภริยาที่แม่นยำพอสมควร ก็ช่วยให้เรื่องราวของต้นแม่ตั้งแต่ออกจากบ้านวัดมามีรายละเอียดและความต่อเนื่องอย่างถูกต้อง ที่ว่าถูกต้องนั้นเพราะคำบอกเล่าจากบุคคลอีกสี่ท่าน คือ โยมแดง ( วรรณี เมฆประสาน ) โยมหยู ( พจน์ อุดมสิทธิพัฒนา ) ท่านเสธ. ณรงค์ ( พ.อ.พิเศษ ณรงค์ ชาติทองคำ ) และโยมเสริม เทพนอก ก็สอดคล้องยันกันได้กับคำบอกเล่าของคุณมานิชย์และคุณสำรวย ถึงแม้จะไม่สามารถติดต่อบุคคลสองท่านที่เกี่ยวข้องได้คือ อจ. สุรชัย และคุณสายชล ( ตี๋ ตรีมุข ) ก็ยังได้รับข้อมูลของสองท่านนี้จากคำบอกเล่าของท่านเสธ.ณรงค์พอสมควรให้ปะติดปะต่อได้ จึงไม่ทำให้เรื่องราวของต้นแม่ต้องขาดตอนไปในภาพรวม เพราะท้ายที่สุดที่ต้นแม่ไปตั้งอยู่ที่บ้านคุณหญิงฯนั้น เป็นที่รับทราบในวงการผู้นิยมชวนชมพอสมควร ดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่า หลายคนยังทราบดีกว่าผู้ตั้งกระทู้เสียอีก.....ส่วนที่สองเป็นการพยายามแสดงลักษณะทางสายพันธุ์โดยใช้ภาพถ่ายของต้นแม่เป็นข้อมูลสำหรับแสดงชั้นต้นก่อน เมื่อภาพถ่ายของต้นแม่แสดงได้ไม่ชัดเจนพอ ก็อาศัยข้อมูลชั้นรองลงมาก็คือ ภาพถ่ายบรรดากิ่งจากต้นแม่ ส่วนใหญ่ก็เป็นกิ่งที่ตอนลงมาจากตอไทย จากที่มาคือผู้ที่เคยครอบครองต้นแม่มาก่อนสองท่าน ได้แก่คุณมานิชย์ สิงหา และท่านเสธ.ณรงค์ รวมทั้งต้นลูกชั้นต้น ( F1 ) เพื่อให้เห็นการถ่ายทอดลักษณะทางสายพันธุ์ส่งมายังชั้นลูกด้วย......
ต้นแม่ตัวจริงนั้นผู้ตั้งกระทู้ไม่สามารถนำไปชมได้ แต่กิ่งจากต้นแม่ที่ได้มาสามกิ่ง คือจากโยมหยูที่ได้มาจากท่านเสธ.ณรงค์หนึ่งกิ่ง จากโยมแดงที่ซื้อมาจากคุณมานิชย์หนึ่งกิ่ง และจากคุณมานิชย์เองเมื่อครั้งไปเยี่ยมคุณมานิชย์ที่ขอนแก่นอีกหนึ่งกิ่ง อยู่ที่วัดทั้งสามกิ่งและผู้ตั้งกระทู้ใช้เป็นอุปกรณ์ประกอบแสดงตัวอย่างทั้งใบและดอกในกระทู้นี้หลายภาพ.
กิ่งตอนจากโยมหยู ได้มาจากท่านเสธ.ฯ


ส่งท้าย..... การที่ได้มีโอกาสรู้จักบุคคลหลายท่านที่มีความเกี่ยวข้องกับยักษ์ต้นแม่มากบ้างน้อยบ้าง เป็นแรงจูงใจให้ตั้งกระทู้นี้ขึ้น โดยตั้งเจตนาไว้ว่า เรื่องราวและลักษณะทางสายพันธุ์ที่นำมาถ่ายทอดสู่ที่นี้ จะช่วยให้ชื่อและเรื่องราวความเป็นมาของยักษ์บ้านวัด ไม่เลือนหายไปตามกาลเวลา ส่วนหนึ่งก็เพื่อยกย่องให้เกียรติแก่คุณสุนัน สนตาเถร ปฐมบุคคลผู้นำยักษ์บ้านวัดต้นแม่จากประเทศซาอุดิอาระเบียมาสู่ประเทศไทย รวมทั้งท่านที่ได้ช่วยกันขยายพันธุ์เพิ่มจำนวนลูกหลานยักษ์บ้านวัด ให้ผู้นิยมชวนชมชาวไทยได้รู้จักกับยักษ์ดอกดกเป็นช่อมองดูเหมือนลูกตะกร้อสีชมพูสด กิ่งเป็นลำตระหง่านเด่นเป็นสง่าด้วยขนาดที่ใหญ่โตมโหฬารเมื่อโตได้ที่ ทั้งยังเป็นแม่ผู้ให้กำเนิดยักษ์สวยชื่อดังกระฉ่อนเมืองโคราชในขณะนี้ ...ในส่วนของการนำเสนอลักษณะทางสายพันธุ์ ก็ได้เสนอไปตามหลักฐานจากภาพถ่ายต้นแม่ และกิ่งจากต้นแม่ที่ได้รับมาเพื่อศึกษาดังกล่าวมาแล้ว เพื่อให้ผู้เริ่มต้นใหม่ได้ใช้เป็นที่ศึกษาข้อมูลเบื้องต้น....ผู้ตั้งกระทู้ไม่ได้โพสกระทู้เพื่อต้องการแสดงภูมิรู้ หรือแสดงตัวว่าเป็นผู้รู้ เพราะเมื่อยิ่งสนใจศึกษาเรื่องชวนชมมากขึ้น ก็รู้สึกตัวว่ารู้น้อยลงไปทุกที ยังมีเรื่องราวน่ารู้เกี่ยวกับชวนชมให้ต้องใฝ่รู้ศึกษาอีกมากมาย...ดังนั้น......ผู้ตั้งกระทู้จึงขอความกรุณาท่านที่ได้เข้ามาอ่านทั้งหลายได้ตั้งท่าทีต่อกระทู้นี้อย่างนี้ คือ หากเป็นผู้เริ่มต้นสนใจศึกษาใหม่ ให้ถือว่าเป็นการศึกษาหาความรู้ร่วมกันไปกับผู้ตั้งกระทู้..หากเป็นผู้ที่มีภูมิความรู้และประสบการณ์ในเรื่องชวนชมดีมากอยู่แล้ว เมื่อได้อ่านกระทู้นี้ ก็ให้คิดเสียว่ากำลังอ่านรายงานที่นักศึกษานำมาส่ง เพื่อให้พิจารณาให้คะแนน และกรุณาให้คำแนะนำเพิ่มเติมด้วยความเมตตาต่อกัน ถ้าวางท่าทีได้อย่างนี้ ก็จะเป็นความดีงามร่วมกันทุกฝ่าย.....ปัจจุบันนี้ ได้มีการขยายพันธุ์ยักษ์บ้านวัด ( สิงห์บุรี ) กระจายกันออกไปในวงการอย่างกว้างขวาง แต่ก็มีจำนวนไม่มากนักในแต่ละที่ จึงไม่ได้เป็นไม้ในกระแส เพราะไม่มีสวนใดผลิตลูกไม้นี้ออกมาอย่างเป็นล่ำเป็นสัน ไม่มีกลุ่มใดร่วมกันจัดการตลาดและประชาสัมพันธ์ไม้อย่างเป็นระบบ ยักษ์บ้านวัด ( สิงห์บุรี ) จึงน่าจะเป็นไม้ทางเลือกตัวหนึ่ง ที่ราคาไม่สูงเกินจริงเพราะอิทธิพลการตลาด แต่มีความงามความน่าสนใจนำไปปลูกเลี้ยงไม่น้อยไปกว่าไม้สายพันธุ์ยักษ์ซาอุฯอื่นๆที่กำลังอยู่ในกระแสความนิยมขณะนี้ ....สวนที่มีลูกยักษ์บ้านวัด ( สิงห์บุรี ) จำหน่ายเล็กๆน้อยอยู่ในตอนนี้ ที่เคยได้ไปชมและอุดหนุนลูกไม้นี้ซึ่งมีความเหมือนต้นแม่อยู่มากสองต้นก็คือ สวนป้านงค์ ที่คลองสิบ จ.ปทุมธานี....สวนศรีสุนทรของโยมหยูที่แปดริ้ว มีกิ่งตอนจากต้นแม่สามกิ่ง เมื่อตอนต้นปีได้ไปเยี่ยมชมและเก็บภาพดอกสวยๆมาโพส เห็นว่าโยมแกเก็บเมล็ดได้มากพอสมควรและกำลังเพาะอยู่ในตะกร้าเพาะ ตอนนี้คงอายุได้สักสี่ห้าเดือนแล้ว...
สวนโยมต้อยที่แปดริ้วก็มีลูกไม้ขนาดใหญ่อยู่หลายต้น ไม่ทราบว่ามีลูกไม้เล็กๆไว้จำหน่ายหรือไม่ ต้องลองไปสอบถามกันเอาเอง...
ที่บ้านคุณมานิชย์ที่จ.ขอนแก่น มีกิ่งจากต้นแม่มากที่สุดคือเกือบยี่สิบกิ่ง และคุณมานิชย์กำลังเสียบเพิ่มอยู่ในตอนนี้ น่าเสียดายที่คุณมานิชย์ได้ปล่อยวางไม่ได้เก็บเมล็ดมาเพาะไว้ จะมีก็ต้นลูกชั้นต้น ( F1 ) หลายขนาด จำนวนหนึ่งไม่มากนัก เพิ่งจะมาฟิตอยากจะเพาะเมล็ดขยายพันธุ์เอาตอนที่ผู้ตั้งกระทู้ไปติดต่อขอข้อมูลเมื่อสักเดือนสองเดือนนี้เอง......
อีกแห่งหนึ่งก็คือ คุณท.ทหาร ลพบุรี คงมีไว้บ้าง เคยเห็นนำมาโพสในเว็บ และคุณวรพันธ์ ก็เคยเห็นมีต้นลูกอยู่สามสี่ต้น นำมาโพสไว้ไม่นาน คงมีโอกาสได้เพาะเมล็ดไว้เพื่อขยายพันธุ์ในวันหน้า...

   ตั้งกระทู้ไม่เคยโพสกระทู้ยาวมากขนาดนี้มาก่อน เมื่อกระทู้มีเนื้อความยาวมาก ก็ย่อมต้องมีข้อผิดพลาดอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นธรรมดา หากเกิดความผิดพลาดประการใดประการหนึ่งขึ้น ผู้ตั้งกระทู้ขอน้อมรับคำตำหนิในความผิดพลาดนั้นแต่เพียงผู้เดียว แต่หากกระทู้นี้มีความดีมีสาระประโยชน์เล็กๆน้อยๆเกิดขึ้นบ้าง ขอมอบความดีนั้นให้แก่บุคคลเหล่านี้.....ท่านแรกก็คือคุณสุนัน สนตาเถร ผู้เป็นปฐมบทแห่งตำนานยักษ์บ้านวัด ( สิงห์บุรี ) ที่ได้กรุณาเอื้อเฟื้อสละเวลาให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง...ท่านต่อมาคือคุณมานิชย์ สิงหา สะพานเชื่อมโยงระหว่างบุคคลและข้อมูลหลักฐานต่างๆมากมาย ที่ทำให้เรื่องราวและภาพของยักษ์บ้านวัด ( สิงห์บุรี ) ต้นแม่ ได้มาแสดงตัวให้เป็นที่รับรู้ของสาธารณชน ขอขอบคุณและอนุโมทนาต่อกิ่งยักษ์บ้านวัด ( สิงห์บุรี ) จากต้นแม่ที่ได้ถวายให้ผู้ตั้งกระทู้ได้ศึกษาลักษณะทางสายพันธุ์....ท่านต่อมาคือโยมแดงที่เป็นเสมือนกุญแจเปิดประตูคลังแห่งข้อมูลหลักฐานอันได้แก่คุณมานิชย์ ขอขอบคุณโยมที่ได้มีน้ำใจแบ่งกิ่งตอนยักษ์บ้านวัด ( สิงห์บุรี ) ต้นแม่ขนาดกำลังน่าเลี้ยงเพื่อมาศึกษาสายพันธุ์หนึ่งกิ่ง...
โยมหยู ( พจน์ อุดมสิทธิพัฒนา ) ผู้มอบสิ่งดีๆให้ตั้งแต่วันแรกที่พบกัน ได้นำพาให้ไปพบกับโยมแดงซึ่งเป็นเหมือนได้เปิดโลกของชวนชมสายพันธุ์ต่างๆให้ได้รับรู้เป็นอันมาก ขอบคุณและขออนุโมทนาต่อโยมที่ได้ถวายกิ่งตอนยักษ์ต้นแม่ และกิ่งต้นแม่อื่นๆอีกมากมายเพื่อให้ได้มีของจริงไว้ศึกษาสายพันธุ์....ขอบคุณโยมเสริม เทพนอก และท่าน พ.อ.พิเศษ ณรงค์ ชาติทองคำ ที่ได้กรุณาเอื้อเฟื้อบอกเล่าข้อมูลที่สำคัญ....ขอบคุณเจ้าของภาพต้นแม่สองภาพ คือภาพต้นแม่ที่ตั้งอยู่ที่สวนตรีมุข และภาพต้นแม่ที่ตั้งอยู่บ้านคุณหญิงฯอันเป็นภาพล่าสุดเท่าที่จะค้นหามาได้ คือคุณวีระพล สมาชิกเว็บบอร์ดหมายเลข ๔๔๔ ที่ช่วยให้ปัจฉิมบทแห่งเรื่องราวของยักษ์บ้านวัด ( สิงห์บุรี ) ต้นแม่ บริบูรณ์ดีได้ ......ขอบคุณเจ้าของภาพเพชรเมืองคงต้นแม่ สุดยอดแห่งความงาม ในความคิดเห็นที่ ๓๖ ......และสุดท้าย.......จะเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก ขอขอบคุณท่านผู้อ่านทุกท่านที่ได้ใช้ความอุตสาหะพยายามอ่านกระทู้นี้มาจนถึงตรงนี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่ท่านทั้งหลายทุกเมื่อ ฯ .....




                                                    F1 ที่บ้าน ในบ้านวัดเหลือไม่กี่ต้นครับ
 

ขอนมัสการขอบพระคุณ พระคุณเจ้า แสนคำนึง ท่านได้เรียบเรียงเมื่อ วันที่ 1 ก.ค.2550 
ผม กฤษณา แสงแก้ว จพง.พัฒนาชุม ทต.เทพาลัย นำมาลงเผยแพร่ใหม่อีกครั้ง เมื่อ 18 ต.ค.2553

กฤษณา แสงแก้ว โทร 081-9554977
สุดยอดนักธุรกิจออนไลน์